การเก็บรักษายาให้ถูกวิธี ไม่เสื่อมสภาพ หยิบใช้ได้ถูกต้อง

ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทุกบ้านควรมีไว้อย่างเพียงพอ แต่ยาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการสกัดและสังเคราะห์จากกระบวนการเคมี ทำให้ลักษณะในการเก็บรักษายาส่งผลต่อประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของยานั้น ๆ จึงทำให้ยาแต่ละชนิดมีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้เพื่อให้ใช้ยาได้อย่างถูกต้องและยังคงให้ผลการรักษาได้เต็มประสิทธิภาพ

สารบัญ

การเก็บรักษายาตามประเภท แยกการใช้งานอย่างถูกต้อง

การเก็บรักษายาควรเก็บในจุดที่เป็นกิจจะลักษณะ มีการจัดระเบียบตู้ยาประจำบ้านเพื่อให้สะดวกต่อการหยิบมาใช้ และการจัดยาตามประเภทของยา ก็จะช่วยให้หายาได้อย่างทันท่วงทีในกรณีฉุกเฉินได้อีกด้วย เมื่อได้รับยามาแล้วจึงควรอ่านฉลากของยาให้ละเอียดทุกครั้งก่อนใช้และก่อนจัดเก็บ โดยการแยกประเภทของยาอย่างง่าย ๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้

  • แบ่งประเภทยาใช้ภายใน หรือยาใช้ภายนอก

ยาใช้ภายในคือยาที่ใช้วิธีรับประทานหรือสูดดมเข้าสู่ร่างกาย ในขณะที่ยาใช้ภายนอกคือยาต่าง ๆ ที่ห้ามรับประทาน ใช้สำหรับทา พ่น เหน็บ หรือหยอดโดยตรงในส่วนที่ต้องการรักษา โดยส่วนใหญ่ยาใช้ภายนอกมักเป็นอันตรายหากเผลอรับประทานเข้าไป จึงควรเก็บรักษายาโดยแยกยา 2 ประเภทนี้ออกจากกันให้ชัดเจน

  • แบ่งประเภทยาแผนโบราณ และแผนปัจจุบัน

ร่างกายของบางคนอาจถูกโรคกับการรักษาด้วยยาแผนโบราณ จึงมีทั้งยาแผนโบราณและแผนปัจจุบันอยู่ในบ้าน ซึ่งรายละเอียดเรื่องการเก็บรักษายาก็แตกต่างกัน โดยยาแผนโบราณที่มีส่วนผสมของสมุนไพรอาจต้องอาศัยความพิถีพิถันในการจัดเก็บมากกว่า ต่างจากยาแผนปัจจุบันที่สำเร็จรูปและจัดเก็บได้ง่ายกว่า จึงควรแยกเป็นสัดส่วนให้ชัดเจน หรืออยู่ในจุดที่ผู้ใช้ยาประเภทนั้น ๆ เข้าถึงได้ง่าย

  • จัดส่วนของยาสามัญประจำบ้านที่หยิบใช้ได้ง่าย

ยาสามัญประจำบ้านคือยาที่ทุกบ้านควรมีติดไว้ ควรเก็บในที่ที่คนในบ้านหาได้ง่ายแต่ไกลจากมือเด็ก โดยแบ่งเป็นกลุ่มยาตามการใช้งานอย่างชัดเจน เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูกหรือเสมหะ กลุ่มยาดม ยาแก้อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

ลักษณะของสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเก็บรักษายา

นอกจากเก็บรักษายาโดยแบ่งประเภทให้ชัดเจนแล้ว ก็ต้องเก็บรักษาในที่ที่เหมาะสมสำหรับยานั้น ๆ โดยพิจารณาจากข้อมูลบนฉลากยาและคุณสมบัติเหล่านี้

  1. สถานที่เก็บรักษายาควรห่างจากระยะที่มือเด็กเอื้อมถึง เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงในการใช้ยาอย่างผิดวิธี
  2. เก็บไว้ในที่ที่พ้นจากแสงแดดและความชื้น เนื่องจากแสงแดดและความชื้นจะลดประสิทธิภาพของยา 
  3. เก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ตามที่กำหนดอยู่บนฉลากยา เช่น ยาบางชนิดควรเก็บในอุณหภูมิห้อง ยาบางชนิดควรเก็บในตู้เย็นเพื่อรักษาประสิทธิภาพ เป็นต้น

การเก็บรักษายาอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้หยิบยามาใช้ได้อย่างสะดวกแล้ว ยังช่วยให้เราดูข้อมูลการใช้งานต่าง ๆ เช่น วันหมดอายุ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากการทานผิด หรือใช้ยาที่มีประสิทธิภาพลดลงได้อีกด้วย




กลับสูสารบัญ

ดูบทความที่เกี่ยวข้อง

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.