โรคจิตเวช เป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยเป็นกันเยอะ บางคนก็ไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วยเป็นโรคจิตเวช หรือบางคนรู้แต่ไม่ยอมไปพบแพทย์ จนอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งโรคจิตเวชนี้เป็นอาการป่วยทางจิตใจที่ทำให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดผิดแปลกไปจากคนอื่น คนป่วยมักจะเกิดความทุกข์ ทรมาน และมีปัญหากับการใช้ชีวิต การเข้าสังคม แม้จะไม่มีสาเหตุของการเกิดโรคจิตเวชที่แน่ชัด แต่ผลการวิจัยพบว่าอาการเหล่านี้มักเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
2HEALTHY ครบทุกเรื่องสุขภาพ
สารบัญ
- 13 โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง
- 1.โรคซึมเศร้า (โรคจิตเวช ที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน)
- 2.โรคไบโพลาร์
- 3.โรคแพนิก
- 4.โรคจิตเภท
- 5.โรคกลัว
- 6.โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง
- 7.โรควิตกกังวลทั่วไป (โรคจิตเวช ที่พบได้มากในวัยทำงาน)
- 8.โรคหลงตัวเอง
- 9.โรคหลอกตัวเอง
- 10.โรคคลั่งผอม
- 11.โรคฮิสทีเรีย
- 12.โรคใคร่เด็ก
- 13.โรคชอบขโมยของ
13 โรคจิตเวช มีอะไรบ้าง
โรคจิตเวชมีด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีลักษณะอาการแตกต่างกันไป เพื่อเป็นการสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่าเป็นโรคจิตเวชหรือไม่ วันนี้เรามี 13 โรคสำคัญทางจิตเวชที่พบได้บ่อยมาฝากกัน
1. โรคซึมเศร้า (โรคจิตเวช ที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน)
โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนิน มีปริมาณลดลง นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของระดับสารเคมีในสมองบางตัวก็ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน อาการของผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะรู้สึกซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร รู้สึกตนเองไร้ค่า ไม่เป็นที่ต้องการ ในผู้ป่วยที่เป็นหนักถึงขั้นคิดอยากตายกันเลย
2. โรคไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีอารมณ์สนุกสนาน ช่างพูดช่างคุย สลับกับซึมเศร้า ท้อแท้ หดหู่ ไม่อยากทำอะไร สาเหตุเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง มีสารเซโรโทนินน้อยเกินไป และสารนอร์เอพิเนฟรินมากเกินไป รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด และการใช้สารเสพติดก็เป็นสาเหตุทำให้เป็นโรคไบโพลาร์ได้เช่นกัน
3. โรคแพนิก
โรคแพนิกเป็นภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบไม่มีเหตุผล เมื่อเกิดแพนิกขึ้นมา ผู้ป่วยจะมีอาการหัวใจเต้นแรง ใจสั่น อึดอัด หายใจลำบาก มือชา เท้าชา ควบคุมตัวเองไม่ได้ อาการเหล่านี้จะเกิดแบบทันทีทันใด แล้วค่อยๆรุนแรงขึ้น จากนั้นจะสงบได้เอง ถึงแม้ว่าโรคแพนิกจะดูไม่อันตราย แต่ก็กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก สาเหตุของโรคเกิดจากปัจจัยทางร่างกายและจิตใจ ปัจจัยทางร่างกายเกิดจากสมองส่วนควบคุมความกลัวที่เรียกว่า อะมิกดาลา ทำงานผิดปกติ ส่วนปัจจัยทางจิตใจ เกิดจากการเคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายหรือรุนแรงในชีวิตมา
4. โรคจิตเภท
โรคจิตเภทเป็นอาการผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อการรับรู้และความคิดที่แตกต่างและผิดไปจากความเป็นจริง เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว หรือคิดไปเองว่าจะมีคนมาทำร้าย และจะแสดงออกโดยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง หากเป็นแล้วมารักษาช้าอาการจะยิ่งมากและรักษายากขึ้นเรื่อยๆ
5. โรคกลัว
ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลัวมักจะแสดงอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรงต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง เช่น กลัวที่แคบ กลัวรู กลัวการอยู่คนเดียว กลัวการเข้าสังคม เป็นต้น อาการที่เกิด ได้แก่ ใจสั่น หายใจไม่ทั่วท้อง มือสั่น ปากสั่น เหงื่อออก บางรายอาจรู้สึกวิงเวียนและหมดสติได้ สาเหตุของโรคยังไม่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากความหลังที่ติดค้างในจิตสำนึก หรือปมในอดีตที่ฝังใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่ดีกับสิ่งนั้นๆ
6. โรคเครียดจากเหตุการณ์ร้ายแรง
โรคนี้เกิดจากภาวะความผิดปกติของอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากพบเหตุการณ์รุนแรง เช่น อยู่ในเหตุการณ์วินาศกรรม จลาจล ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกทารุณกรรมทางเพศ พบเห็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ถูกขังเป็นเวลานาน เป็นต้น ผู้ป่วยโรคนี้จะแสดงอาการออกมา 2 ระยะ ระยะแรกจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือนหลังเหตุการณ์เกิดขึ้นและอาจจะหายเองได้ หากเกิน 1 เดือนแล้วยังไม่หาย ยังรู้สึกว่าเหตุการณ์ยังตามมาหลอกหลอน หลับตาหรือนอนหลับก็เห็นแต่ภาพนั้น ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
7. โรควิตกกังวลทั่วไป (โรคจิตเวช ที่พบได้มากในวัยทำงาน)
โรควิตกกังวลทั่วไปถึงแม้จะไม่อันตราย แต่ก็กระทบต่อการใช้ชีวิตเช่นกัน เพราะผู้ป่วยมักจะกังวลแบบระบุสาเหตุไม่ได้ เช่น กังวลเรื่องสุขภาพ เงิน ครอบครัว หน้าที่การงาน และระแวงในเรื่องที่ยังไม่เกิด เช่น การเกิดภัยพิบัติ ผู้ป่วยจะหยุดความคิดเรื่องที่กังวลไม่ได้ กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย และไม่มีสมาธิ
8. โรคหลงตัวเอง
คนที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะรู้สึกหลงใหลในตัวเอง มีความเห็นแก่ตัว อยากเป็นที่หนึ่ง อยากเอาชนะ และอยากให้คนสนใจตลอดเวลา สาเหตุของโรคเกิดจากการได้รับการสั่งสอนอย่างผิดๆ มาตั้งแต่เด็ก ความเครียดและความกดดันจากครอบครัว รวมถึงสภาพแวดล้อมก็ด้วย
9. โรคหลอกตัวเอง
โรคหลอกตัวเองเป็นอาการผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง ที่ผู้ป่วยมักพูดโกหกเพื่อเรียกร้องความสนใจ มโนเก่ง หากมีคนมาขัดใจจะรู้สึกโกรธ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่ตัวเองแสดงออกหรือพูดออกมาคือเรื่องหลอกลวง เพราะอยู่ในโลกที่ตัวเองสร้างขึ้น ซึ่งโรคนี้เรามักจะเห็นออกข่าวอยู่บ่อยๆที่ว่ามีคนแต่งตัวเป็นตำรวจปลอม เป็นทนายปลอม หรือเป็นแพทย์ปลอม สาเหตุของโรคเกิดจากความผิดปกติของประสาทและสมอง ลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมเลียนแบบ
10. โรคคลั่งผอม
โรคคลั่งผอมคือโรคที่กลัวอ้วนจนเกินไป มีทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับรูปร่าง จนไม่ยอมกินอาหารหรือกินน้อยมากๆ ผู้ป่วยมักจะชอบคิดว่าตัวเองอ้วน ชั่งน้ำหนักบ่อย บางรายก็ชอบออกกำลังกายอย่างหนัก เพื่อให้ตัวเองผอมทั้งที่ตอนนี้ก็ผอมจนเหลือแต่กระดูกอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้มักจะเป็นวัยรุ่นที่มีความอ่อนไหวในเรื่องอารมณ์และความใส่ใจในรูปร่างของตัวเอง
11. โรคฮิสทีเรีย
โรคฮิสทีเรียไม่ได้เป็นโรคบ้าผู้ชาย หรือบ้าเซ็กส์ จริงๆแล้วโรคนี้เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชในกลุ่ม Somatoform Disorders ผู้ป่วยมักจะชอบทำตัวเด่น ชอบแสดงท่าทีที่โอเว่อร์แอ็คติ้ง อารมณ์แปรปรวน ชอบเรียกร้องความสนใจ หากเรียกร้องความสนใจไม่สำเร็จก็จะทำร้ายตัวเอง หรือขู่ทำร้ายตัวเองเพื่อให้ผู้อื่นสนใจ
12. โรคใคร่เด็ก
โรคใคร่เด็กส่วนใหญ่เกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ทางเพศกับเด็กก่อนถึงวัยเจริญพันธุ์ และก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กได้ สาเหตุของโรคเกิดได้หลายปัจจัย เช่น การเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือโดนข่มขืนในวัยเด็กมาก่อน
13. โรคชอบขโมยของ
ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ไม่สามารถยั้งใจหรือควบคุมอารมณ์ต่อแรงกระตุ้นที่จะขโมยของได้ ไม่ได้มีการวางแผนมาก่อนหรือต้องการทรัพย์สิน เพียงแค่รู้สึกอยากขโมยเท่านั้น ได้ขโมยแล้วรู้สึกสบายใจ สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่น่าจะเกิดความผิดปกติทางชีวภาพ ทำให้สมองหลั่งสารบางอย่างออกมา