เวลารู้สึกไม่สบาย คนเรามักจะไปซื้อยามารับประทานเองมากกว่าการไปพบแพทย์ อาจเพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นอะไรมาก และรู้สึกไม่อยากเสียเวลาไปรอตรวจ ซึ่งการซื้อยาในประเทศไทยนั้นสามารถหาซื้อได้ง่ายมากตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายยาทั่วไป บางร้านก็เป็นพนักงานมาขายให้ ไม่ใช่เภสัชกรที่รู้เรื่องยามาขาย อาจเกิดการหยิบยาที่ไม่ถูกกับโรคได้ บางครั้งผู้ป่วยก็ค้นอาการของตัวเองในอินเทอร์เน็ตแล้วไปซื้อยาจากร้านขายยาเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องอย่างมาก เพราะการซื้อยามารับประทานเองมีผลเสียมากกว่าผลดี ดังนี้
2HEALTHY ครบทุกเรื่องสุขภาพ
สารบัญ
- อันตรายจากการซื้อยารับประทานเอง
- 1. วินิจฉัยโรคไม่ถูกต้อง
- 2. กินยาไม่ครบ
- 3. กินยาผิด
- 4. มีการแพ้ยาเกิดขึ้น
- 5. ไม่ทราบข้อห้ามในการใช้ยา
อันตรายจากการซื้อยารับประทานเอง
1. วินิจฉัยโรคไม่ถูกต้อง
การวินิจฉัยโรคเองไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะการวินิจฉัยโรคต้องมีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม การไปซื้อยามารับประทานเองอาจได้ยาที่ไม่ตรงกับโรคมา และอาจเกิดอันตรายได้หากยาที่ใช้เป็นยาต้องห้ามกับโรคนั้นๆ
2. กินยาไม่ครบ
โรคแต่ละชนิดมีระยะเวลาในการรักษาไม่เท่ากัน การรู้ข้อมูลไม่ครบแล้วซื้อยามารับประทานเองอาจทำให้กินยาไม่ครบ ซึ่งเสี่ยงต่อการดื้อยาได้
3. กินยาผิด
ประเทศไทยหาซื้อยาได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งคนขายยาตามร้านขายยาบางส่วนไม่ใช่เภสัชกรขายเอง บางคนเป็นลูกจ้างที่ไม่ได้มีความรู้เรื่องยาเลย จึงอาจเกิดหยิบยาผิดให้กินได้ หรือเอายาที่เลิกใช้มานานแล้วมาขายให้ ทำให้เมื่อรักษาไปแล้ว มีการดื้อยาเกิดขึ้นและไม่หายขาดจากโรคสักที
4. มีการแพ้ยาเกิดขึ้น
เรามักจะทราบชื่อยาที่เราแพ้ และหลีกเลี่ยงที่จะกินยานั้น แต่ความเป็นจริงยาบางชนิดมีการแพ้ในกลุ่มเดียวกันได้ หรือบางครั้งอาจแพ้ยาข้ามกลุ่ม การซื้อยามารับประทานเองโดยไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงทำให้เกิดการแพ้ยาซ้ำได้
5. ไม่ทราบข้อห้ามในการใช้ยา
เวลาแพทย์สั่งยา แพทย์จะดูข้อบ่งใช้การใช้ยาและพิจารณาตัวผู้ป่วย ว่ามีการใช้ยาหรือมีโรคชนิดไหนที่เป็นข้อห้ามในการใช้ยานั้นๆหรือไม่ เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง ยาแก้ปวดธรรมดาบางชนิดเพียง 1 – 2 เม็ด ก็ทำให้เกิดภาวะไตวายรุนแรงได้ หากไปซื้อยาโดยไม่มีความรู้ด้านนี้ ก็จะได้ยาที่เกิดผลเสียต่อตัวเราเอง