ทำไมต้องฉีดบาดทะยักพร้อมกับฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

ทำไมต้องฉีดบาดทะยักพร้อมกับฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

เมื่อโดนสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใด ๆ กัดหรือข่วนก็ตาม หลายคนรู้ว่าจะต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ซึ่งสิ่งนี้เป็นการกระทำที่ถูกต้อง แต่สังเกตหรือไม่ เมื่อแพทย์ซักประวัติและพิจารณาเคส บางครั้งก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า แต่จะได้ฉีดวัคซีนบาดทะยักแทน หรือฉีดควบคู่ไปด้วย แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนั้นกันล่ะ

เมื่อวัคซีนพิษสุนัขบ้าอาจจะไม่จำเป็นเท่าวัคซีนบาดทะยัก

หลายคนเข้าใจผิดมาโดยตลอดว่า เมื่อโดนกัดหนึ่งครั้งก็เตรียมยิ้มรับชะตากรรมวัคซีนพิษสุนัขหลายเข็ม แต่ที่จริงแล้วการจะได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าหรือไม่ หรือต้องรับกี่เข็ม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น ถ้าถูกกัดโดยสัตว์เลี้ยงของตัวเองที่มีประวัติรับวัคซีนครบและตรงเวลา การฉีดพิษสุนัขบ้าแบบเต็มรูปแบบก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็น

นอกจากนั้น หากแพทย์ซักประวัติของคนไข้แล้วพบว่า เคยได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาแล้ว และยังไม่พ้นกำหนดที่ภูมิคุ้มกันจะหายไป คนไข้ก็อาจจะแค่ได้รับการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเท่านั้น

แต่สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างเมื่อถูกสัตว์กัด และหลายคนไม่ได้ตระหนักถึงก็คือเรื่องของบาดทะยัก ซึ่งเชื้อบาดทะยักนั้นอาจจะอาศัยอยู่ในน้ำลายของสัตว์ที่กัดเรา และเมื่อเข้าสู่แผลแล้วจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 7-10 วัน อย่างไรก็ตามผู้ติดเชื้อก็มักจะแสดงอาการตั้งแต่ 2-3 วันแรก และนี่เองเป็นสาเหตุที่เราควรรีบทำความสะอาดแผลให้ถูกต้องหลังโดนกัด แล้วรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับวัคซีนบาดทะยัก เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ผลที่ตามมาอาจรุนแรงถึงชีวิต

คนเราได้รับเชื้อบาดทะยักอย่างไรบ้าง แล้วสามารถป้องกันได้หรือไม่

อย่างที่กล่าวไปว่า สำหรับคนที่โดนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด สัตว์เหล่านั้นอาจจะมีเชื้อบาดทะยักอยู่ในน้ำลายอันเนื่องมาจากต้องคลุกคลีกับสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด นอกจากนั้น คนเรายังมีโอกาสได้รับเชื้อบาดทะยักได้จากอีกหลายสาเหตุ คือ

  1. สิ่งแปลกปลอมตกค้างในแผล เช่น ฝุ่น น้ำลาย ละอองอุจจาระ
  2. แผลไฟไหม้
  3. แผลกดทับในผู้ป่วยติดเตียง
  4. แผลเนื้อตาย
  5. แผลเบาหวาน
  6. จากมารดาสู่ทารกผ่านสายสะดือ

ซึ่งหากทิ้งระยะนานจนเกิดการติดเชื้อขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะได้รับการรักษาตามอาการด้วยยาปฏิชีวนะ การเคลียร์เนื้อเยื่อบางส่วนออกจากบาดแผล ยาคลายกล้ามเนื้อและระงับประสาท ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อติดเชื้อแล้วส่วนใหญ่มักจะต้องถูกติดตามอาการใกล้ชิด บางรายที่มีปัญหาเรื่องการหายใจก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วย

จริง ๆ แล้วบาดทะยัก ก็สามารถป้องกันได้อีกทาง ด้วยการฉีดวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งมักจะพิจารณาตามช่วงวัย เช่น หากเป็นเด็ก วัคซีนบาดทะยักจะรวมอยู่ในโปรแกรมวัคซีนพื้นฐานที่ครอบคลุมโรคคอตีบและไอกรนด้วย ถ้าเกิดบาดแผลยังไม่เกิน 10 ปีนับจากวันที่ได้รับวัคซีน ก็ไม่ต้องฉีดบาดทะยักเพิ่ม แต่ถ้าเกินแล้วก็ฉีดกระตุ้นเพิ่ม 1 เข็ม

แต่ถ้าตอนเด็กไม่เคยได้รับวัคซีนมา ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดบาดทะยัก 3 เข็มหลังตรวจบาดแผล จากนั้นก็ใช้วิธีการฉีดกระตุ้นครั้งละ 1 เข็มเช่นเดียวกัน

การถูกสัตว์กัดนำพาอันตรายมาสู่ชีวิต และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นล้วนแต่ร้ายแรงและยากที่จะหายเป็นปกติหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีและทันท่วงที ทางที่ดีควรฉีดวัคซีน ทั้งพิษสุนัขบ้าและบาดทะยักเพื่อวัตถุประสงค์ของการป้องกันไว้ก่อน เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา เราจะยังวางใจได้ระดับหนึ่งว่า จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรงแก่ชีวิต

บทความที่น่าสนใจ

ฉีดบาดทะยัก สำคัญอย่างไร

ขั้นตอนการทำแผล และวิธีดูแลแผลหลังทำแผล

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.