การอดอาหารอาจเป็นวิธีแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่ออยากลดความอ้วน เพราะการกินเป็นสาเหตุสำคัญของความอ้วน อย่างไรก็ตาม การกินอาหารก็ยังจำเป็นต่อร่างกายที่ต้องใช้พลังงานเพื่อใช้ชีวิต การอดอาหารจึงอาจไม่ใช่วิธีที่สุดสำหรับการลดความอ้วน หากทำไม่ถูกต้อง นอกจากจะไม่ผอมลงแล้วยังมีผลกระทบในทางลบตามมา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้ผลเลยเช่นกัน ดังนั้นเราควรศึกษาหาความรู้ก่อนว่าร่างกายของตนเองควรลดความอ้วนด้วยการอดอาหารหรือไม่ แล้วทำอย่างไรจึงจะอดอาหารแล้วลดความอ้วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อร่างกายอดอาหารอย่างไม่เหมาะสม
ผู้ที่ใช้วิธีลดความอ้วนอาจใช้วิธีอดอาหารมื้อเช้าหรือมื้อเย็นเป็นหลัก หรือบางคนอาจหักโหมเกินไปโดยการไม่กินอะไรเลย ในระยะเวลาสั้น ๆ วิธีอดอาหารแบบนี้อาจให้ผลลัพธ์ที่ทันใจ แต่เมื่อมองกันในระยะยาว การอดอาหารโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของร่างกายจะส่งผลเสียได้มากกว่าที่คิด
ร่างกายของคนเราจะมีกลไกในการเก็บรักษาไขมัน เมื่อรู้สึกว่าร่างกายอยู่ในภาวะขาดอาหาร ดังนั้นเมื่ออดอาหารอย่างไม่เหมาะสมเป็นเวลานานจะทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้น้อยลง เมื่อกลับมากินตามปกติร่างกายก็จะเผาผลาญได้ไม่ดี ทำให้ไขมันถูกสะสมไว้ในร่างกายมากกว่าปกติ เพราะร่างกายกลัวว่าจะขาดสารอาหารอีก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโยโย่เอฟเฟกต์นั่นเอง นอกจากนี้ การอดอาหารอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคเบาหวาน โรคกระเพาะ ท้องผูกเรื้อรัง ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย เป็นต้น
การอดเพื่อลดความอ้วนอย่างถูกต้อง ด้วยการทำ IF
การทำ IF หรือ Intermittent Fasting คือ เทคนิคการลดน้ำหนักอย่างหนึ่งด้วยการกินอาหารแบบจำกัดเวลา เพื่อให้ร่างกายปรับตัว สร้างกลไกการดึงไขมันมาใช้เป็นพลังงานหลักในระหว่างหยุดกินอาหารได้ดี เพราะร่างกายสามารถคาดคะเนช่วงเวลาที่ได้รับอาหารได้ แต่ก็ไม่อดอาหารมากเกินไปจนได้รับพลังงานน้อยกว่าที่ใช้ในแต่ละวัน การทำ IF จึงควรพิจารณาจากสภาพร่างกายตัวเองด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ หากมีกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอ ไม่ได้ใช้แรงงานมาก ไม่มีโรคประจำตัว และมีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป ก็สามารถทำ IF ได้
หากสนใจที่จะลดน้ำหนักด้วยวิธีแบบ IF และพิจารณาว่าสภาพร่างกายเหมาะสม ควรเริ่มจากการทำ IF แบบง่ายที่สุดก่อน นั่นคือแบบ 16/8 เป็นการหยุดกินอาหาร 16 ชั่วโมง และกินภายใน 8 ชั่วโมง เช่น เมื่อคุณเริ่มกินอาหารเช้าในเวลา 9.00 น. คุณก็จะกินมื้อสุดท้ายได้ไม่เกิน 17.00 น. หลังจากนั้นให้งดอาหารจนกว่าจะถึงเวลา 9.00 น. ของวันถัดไปนั่นเอง หากวิธีนี้เหมาะกับคุณในระยะยาว ค่อยขยับไปสู่วิธีที่ยากขึ้น เช่น แบบ 19/5 แบบวันเว้นวัน แบบ 5:2 เป็นต้น
สรุป
ถึงแม้การควบคุมการกินอาหารแบบ IF จะช่วยให้ลดน้ำหนักได้จริง แต่ไม่ใช่ว่าจะสามารถตามใจปากได้ ระหว่างการทำ IF ก็ต้องเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย ดังนั้นการอดอาหารก็ควรทำอย่างพอดี ๆ ไม่อดอาหารจนเกิดผลเสียต่อร่างกาย และที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายควบคู่กันไปเพื่อให้ลดน้ำหนักอย่างสุขภาพดีด้วย