ยาแก้ท้องเสีย หรือ ยาแก้ท้องร่วง เป็นยาใช้ภายในสำหรับรักษาอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับยาแก้ท้องเสียประเภทต่างๆ พร้อมทั้งแนะนำวิธีการใช้ยาให้เหมาะสมและปลอดภัย อาการท้องเสียจะได้หายไว ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการใช้ยาแก้ท้องเสีย ท้องร่วง
- ยาแก้ท้องเสีย ช่วยเรื่องอะไรบ้าง
- ท้องเสียหรือท้องร่วง อาการเป็นอย่างไร
- ประเภทของยาแก้ท้องเสีย ตามอาการ
- ยาแก้ท้องเสีย ควรกินตอนไหนก่อนหรือหลังอาหาร
- หากมีอาการท้องเสียจำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม
- ทำไมท้องร่วงถึงไม่ควรกินยาหยุดถ่าย
- อาการท้องเสียแบบไหนควรไปหาหมอ
- ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ท้องร่วง
ยาแก้ท้องเสีย ช่วยเรื่องอะไรบ้าง
ยาแก้ท้องเสีย แต่ละชนิดจะทำหน้าที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ช่วยดูดซับสารพิษในลำไส้และระบบทางเดินอาหาร ทำให้คนที่กำลังท้องเสียหรือท้องร่วงมีอาการถ่ายเหลวน้อยลง ช่วยทำให้อุจจาระจับตัวเป็นก้อนมากขึ้น ช่วยชดเชยน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป
นอกจากนี้ ยาบางชนิดยังช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากการท้องเสียได้อีกด้วย
ท้องเสียหรือท้องร่วง อาการเป็นอย่างไร
อาการท้องเสีย ที่พบได้บ่อย คือ ถ่ายเหลวหรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน โดยอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ในบางรายอาจมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ หรือมีอาการไข้ขึ้นสูง หากมีอาการเหล่านี้ แสดงว่าคุณกำลังท้องเสียหรือท้องร่วงอย่างแน่นอน
ประเภทของยาแก้ท้องเสีย ตามอาการ
ยาแก้ท้องเสีย หรือ ยาแก้ท้องร่วง มีหลายประเภท แต่ละประเภทมีกลไกการออกฤทธิ์และเหมาะกับอาการแตกต่างกัน ดังนี้
ยาผงถ่าน
เหมาะสำหรับอาการท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ เพราะถ่านคาร์บอนจะช่วยดูดซับสารพิษในร่างกายออกมาได้
ยาเกลือแร่
เหมาะสำหรับอาการท้องเสียที่รุนแรง จนทำให้มีอาการอ่อนเพลียจากภาวะขาดน้ำ เกลือแร่ ORS สามารถชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัว ป้องกันภาวะช็อกและภาวะร่างกายขาดน้ำได้
ยาหยุดถ่าย
เหมาะสำหรับอาการท้องเสียเฉียบพลันที่ไม่มีการติดเชื้อ ยาชนิดนี้จะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้เราถ่ายน้อยลงนั่นเอง
ยาฆ่าเชื้อ
เหมาะสำหรับอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ ยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค แบคทีเรียหรือไวรัสที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
แล้วยาธาตุน้ำขาว เป็นยาแก้ท้องเสียมั้ยอยากรู้อ่านได้ที่นี่
ยาแก้ท้องเสีย ควรกินตอนไหนก่อนหรือหลังอาหาร
ยาแก้ท้องเสียแต่ละประเภทมีวิธีกินและข้อควรระวังแตกต่างกัน ดังนี้
- ยาผงถ่าน กินได้ทันทีที่มีอาการ แต่ควรกินเว้นห่างจากยาตัวอื่น อย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ผงถ่านไปรบกวนการดูดซึมของยาชนิดอื่น
- ยาเกลือแร่ สามารถชงดื่มได้ตลอดเวลา
- ยาหยุดถ่าย ควรกินเมื่อจำเป็น และกินตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
- ยาฆ่าเชื้อ ให้กินตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
หากมีอาการท้องเสียจำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อไหม
เราไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่มีอาการท้องเสีย เพราะยาฆ่าเชื้อเหมาะสำหรับรักษาอาการท้องเสียจากการติดเชื้อเท่านั้น การกินยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้ ดังนั้น ไม่ควรซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเอง และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้
ทำไมท้องร่วงถึงไม่ควรกินยาหยุดถ่าย
ยาหยุดถ่ายเป็นยาแก้ท้องร่วงที่ออกฤทธิ์ช่วยให้เราหยุดถ่ายเท่านั้น แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ซึ่งหากเรามีอาการท้องเสียจากการติดเชื้อ การกินยาหยุดถ่ายจะยิ่งทำให้เชื้อโรคอยู่ในร่างกาย ไม่ได้ถูกขับออกไป อาจส่งผลให้อาการหนักกว่าเดิม และมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ ดังนั้น ควรใช้ยาหยุดถ่ายเมื่อจำเป็นและใช้ให้ถูกต้อง
อาการท้องเสียแบบไหนควรไปหาหมอ
เมื่อมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง นอกจากกินยาแก้ท้องเสียตามอาการแล้ว เรายังต้องคอยสังเกตอาการให้ดี หากมีอาการท้องเสียรุนแรง หรือท้องเสียเรื้อรังนานเกิน 2 วัน อุจจาระมีเลือดปน มีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง หรือมีภาวะขาดน้ำ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ท้องร่วง
การใช้ยาแก้ท้องเสียหรือยาแก้ท้องร่วงนั้น มีข้อควรระวังหลายอย่าง ได้แก่
- ไม่ควรใช้ยามากเกินขนาดหรือใช้ยานานเกินไป เพราะการกินยาแก้ท้องร่วงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงอื่นๆ ได้ เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น
- หลังกินยาแก้ท้องเสียไปแล้ว 48 ชั่วโมง หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์
- ยาแก้ท้องเสียบางชนิด อาจทำให้ยารักษาโรคอื่นๆ ดูดซึมได้น้อยลง เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน ควรเว้นระยะเวลาตามคำแนะนำในฉลาก
- ยาแก้ท้องร่วงแบบยาหยุดถ่าย ควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และไม่ควรใช้ในกรณีท้องเสียจากการติดเชื้อ
- หากกินยาแก้ท้องร่วงแล้วมีอาการปวดท้องรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด หรือมีไข้ ควรหยุดกินทันที แล้วรีบไปหาหมอโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ยังควรระมัดระวังการใช้ยาในเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และหากมีประวัติแพ้ยาหรือกำลังใช้ยาอย่างอื่นอยู่ ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง อย่าลืมอ่านฉลากวิธีใช้ยาอย่างละเอียด หากไม่จำเป็นไม่ควรซื้อยามากินเอง และควรหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้น
สรุป
ยาแก้ท้องเสีย จัดเป็นยาประเภทยาใช้ภายใน ต้องใช้อย่างระมัดระวัง หากอาการท้องร่วงท้องเสียไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่น ควรไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ ควรใช้ยาแก้ท้องร่วงควบคู่กับการดูแลตัวเอง เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ กินอาหารย่อยง่าย เพียงเท่านี้อาการท้องเสียก็จะหายได้ภายในไม่กี่วันอย่างแน่นอน
บทความที่น่าสนใจ
- ยาใช้ภายนอก กับ ยาใช้ภายใน มีอะไรบ้าง? แตกต่างกันยังไง
- ติดยาดม พฤติกรรมแบบนี้อันตรายมั้ย ทำยังไงให้เลิกติดยาดม
- ยาหยอดตา ช่วยอะไรบ้าง?
- ยาแก้ไอ มีกี่ประเภท? เลือกใช้ให้ถูกตามอาการ
- ยาธาตุน้ำขาว ควรกินตอนไหน? มีสรรพคุณอะไรบ้าง
เอกสารอ้างอิง
- การใช้ยาแก้ท้องเสียให้ถูกวิธี, ภญ.สิริมา วรนาวิน เภสัชกรคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
-
ยาแก้ท้องเสียมีกี่ประเภท เลือกใช้ตามอาการ, สามัคคีเภสัช
-
เมื่อท้องเสีย ต้องกินยาหยุดถ่าย จริงหรือไม่, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา