นอนไม่หลับทำอย่างไร จำเป็นต้องใช้ยานอนหลับช่วยหรือเปล่า?

ในชีวิตของคนเรา ใช้เวลากว่าครึ่งหนึ่งเพื่อการนอนหลับพักผ่อน ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกาย แต่สำหรับบางคนอาจรู้สึกว่ามีช่วงเวลาที่นอนไม่หลับมากกว่าเวลานอนหลับอย่างที่ควรจะเป็น และการนอนไม่หลับส่งผลเสียต่อร่างกายหลายด้าน ทั้งด้านสุขภาพ สภาพอารมณ์ และประสิทธิภาพในการทำกิจวัตรประจำวัน ปัญหาเรื่องการนอนจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หลายคนอาจเลือกใช้วิธีทานยานอนหลับ แต่การทานยานอนหลับอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีหากทำอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ แก้ได้ด้วยการปรับพฤติกรรม

ก่อนเริ่มมองหายานอนหลับ อาจต้องหาสาเหตุให้เจอก่อนว่านอนไม่หลับเพราะอะไร เพราะวิธีแก้ปัญหาอาจง่ายและใกล้ตัวกว่าที่คิด สาเหตุหลักมักเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการนอนหลับ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เคยชิน ทำให้นอนหลับได้ยากเมื่อถึงเวลาที่ควรนอน

  • สภาพแวดล้อมในห้องไม่เรียบร้อย

ห้องที่รก ไม่สะอาด ทำให้คุณภาพการนอนไม่ดี นอนไม่หลับ เนื่องจากห้องที่รกนั้นอาจทำให้ความคิดและร่างกายเกิดความกังวลอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าห้องนั้นจะมีความมืด อุณหภูมิ หรือเครื่องนอนที่เหมาะสมต่อการนอนแล้วก็ตาม การจัดห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อยจะทำให้จิตใจรู้สึกสงบและผ่อนคลายได้มากกว่า และทำให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

  • ทำกิจกรรมอื่น ๆ ในห้องนอน

การทำกิจกรรมอื่น ๆ ขณะอยู่ในห้องนอนจะทำให้ร่างกายคุ้นเคยกับพฤติกรรมและสถานที่ในเวลานั้น จนเมื่อถึงเวลานอนก็จะนอนไม่หลับนั่นเอง ทางที่ดีควรกำจัดสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการนอนออกจากห้องนอนให้ได้มากที่สุด หรือถ้าหากเป็นห้องพักแบบสตูดิโอให้ใช้วิธีจัดเตียงนอนให้เป็นโซนที่ชัดเจนและเรียบร้อย ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ บนที่นอน เช่น ทานอาหาร ดูซีรีส์ และทำงาน

  • คิดมากหรือเครียดง่ายจนเป็นนิสัย

เมื่อคิดมากก็จะทำให้คิดวนไปวนมาจนนอนไม่หลับ และถ้ายิ่งเป็นคนเครียดง่าย ไม่มีวิธีจัดการกับสภาพอารมณ์ของตัวเองได้ดีพอ ก็จะทำให้เกิดความเครียดสะสมจนไม่สามารถนอนหลับได้ จึงต้องฝึกนิสัยตัวเองให้เป็นคนใจเย็น รู้จักปล่อยวาง หาวิธีระบายอารมณ์ที่เหมาะสม เมื่ออารมณ์ดีก็จะทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น

ข้อดีและข้อเสีย ของการใช้ยานอนหลับเมื่อนอนไม่หลับ

ยานอนหลับเป็นยาที่มีข้อดีคือเหมาะกับการรักษาอาการนอนไม่หลับในระยะเวลาสั้น ๆ โดยเฉพาะการนอนไม่หลับด้วยโรคเกี่ยวกับจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า โรคอารมณ์สองขั้ว โรคแพนิค เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายนอนหลับได้โดยไม่ต้องใช้เวลานาน การใช้ยานอนหลับจึงควรอยู่ภายใต้การพิจารณาของแพทย์ ไม่ควรซื้อยานอนหลับมาใช้เอง เนื่องจากยานอนหลับมีผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น มีอาการวิงเวียนและปวดศีรษะระหว่างวัน ไปจนถึงมีอาการติดยาหรือดื้อยาได้

การปรับพฤติกรรมเป็นวิธีที่แก้อาการนอนไม่หลับที่ได้ผลที่สุด เพราะเป็นการปรับนิสัยการนอนในระยะยาว ต่างจากการพึ่งพายานอนหลับที่ได้ผลรวดเร็ว แต่อาจทำให้เสพติดการใช้ยานอนหลับจนร่างกายไม่สามารถนอนเองได้ นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรมยังช่วยให้การใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ ทั้งการกิน การทำงาน และเรียนรู้ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย




This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.