โรคซึมเศร้า อาการทางจิตเวชที่รักษาได้ด้วยกำลังใจ

เมื่อพูดถึงโรคทางจิตเวช โรคซึมเศร้าถือว่าเป็นอันดับต้น ๆ ที่มีผู้ป่วยมากที่สุดทั้งที่รู้ตัวแล้วเข้ารับการรักษา ผู้ที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือผู้ป่วยที่เลี่ยงการเข้ารับการรักษาด้วยความอายหรือไม่อยากใช้ยา เพราะได้ยินมาว่ายาต้านโรคซึมเศร้านั้นเมื่อกินเข้าไปแล้วมักก่อให้เกิดอาการซึมหรือไม่อยากทำอะไร อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจโรคนี้จะช่วยให้เราสามารถดูแลตัวเองรวมถึงการดูแลผู้ป่วยได้อยากถูกวิธีมากขึ้น

ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น รู้สึกเบื่อหน่ายตัวเองหรือสภาพแวดล้อมและผู้คน มีอารมณ์เศร้าหมองและตึงเครียดแทบจะตลอดเวลา บางทีก็อาจมีการร้องไห้ออกมาแบบควบคุมไม่ได้ ซึ่งภาวะซึมเศร้านั้นไม่ใช่อารมณ์ที่เป็นแล้วสามารถหายได้ง่าย ๆ บางคนอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานหลายปีขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองรวมถึงความใส่ใจของคนรอบข้างด้วย

อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ลองสังเกตตัวเองหรือคนใกล้ชิดดูว่ามีอาการที่สุมเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยภาวะซึมเศร้ามีทั้งที่เป็นอาการระยะเริ่มต้นเป็น ๆ หาย ๆ อารมณ์แปรปรวน ไปจนถึงระยะอันตรายที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าหาทางออกให้กับชีวิตหรือจัดการความรู้สึกตัวเองไม่ได้จนอาจมีการคิดสั้นได้ ซึ่งอาการของโรคที่มักแสดงออกมานั้นประกอบไปด้วย

-มีความรู้สึกเศร้าหมอง สิ้นหวัง รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า

-ชอบโทษตัวเองกำเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน

-มีภาวะสิ้นยินดี คือไม่รู้สึกรู้สากับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตทั้งด้านดีและด้านไม่ดี ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างอันตรายเพราะผู้ป่วยอาจรู้สึกว่าโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีตัวเองอยู่ก็ได้

-มีอาการเครียดหรือคิดมากจนส่งผลต่อการนอน ทำให้นอนไม่หลับ หรือไม่ก็อยากนอนตลอดเวลา

-ความคิดและการกระทำช้าลง จากที่เคยทำอะไรได้รวดเร็วว่องไว

-มีอาการเหนื่อยง่าย หงุดหงิด กระสับกระส่าย

-มีการคิดฆ่าตัวตาย หรือวางแผนฆ่าตัวตายบ่อย ๆ แม้กระทั่งการพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งโรคซึมเศร้าในระยะนี้ควรรีบไปพบจิตแพทย์เพื่อหาทางรักษาให้เร็วที่สุด

-สมาธิสั้นไม่สามารถจดจ่อกับงานหรือการเรียนได้ จนทำให้สูญเสียงานหรือเสียการเรียน ตามมาด้วยความเครียด

-ในบางกรณีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีอาการทางกายร่วมด้วย อาทิ ปวดตามเนื้อตัว ปวดหัว หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

อาการซึมเศร้าแบบไหนที่ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวช ที่บางครั้งผู้ป่วยเองก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็น อาจคิดว่าแค่เป็นโรคเครียด จากการเรียนหรือการทำงาน แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่อาการเศร้าจะเหมือนอยู่ในใจตลอดเวลา ลองเช็กลิสต์อาการจากหัวข้อที่ผ่านมาว่าคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านั้นหรือไม่ โดยเฉพาะมีการคิดที่จะฆ่าตัวตาย ทั้งนี้โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องหน้าอายและไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเองหากสงสัยว่าเป็นควรไปพบแพทย์และนักบำบัดเพื่อคัดกรองว่าคุณมีระดับความซึมเศร้าอยู่ในขั้นไหนแล้ว

สาเหตุของโรคซึมเศร้า

สำหรับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้นแม้จะยังมาทราบแน่ชัดเพราะมีความคล้ายคลึงกับอาการทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคแพนิค โรคกลัวผู้คน มีทั้งที่เกิดจากตัวผู้ป่วยเองและการได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก ได้แก่

-เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง โดยเป็นสารที่เกี่ยวกับการสื่อความรู้สึกที่เกิดความผิดปกติจนทำให้เป็นภาวะซึมเศร้าตามมา ซึ่งมีงานวิจัยรองรับ ดังนั้นอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าคุณคิดไปเองเพราะบางครั้งสารเคมีสมองของคุณอาจกำลังผิดปกติอยู่ก็ได้

-การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย มักเกิดขึ้นจากการที่ฮอร์โมนไม่สมดุลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น อาการซึมเศร้าหลังคลอด เป็นต้น

-ซึมเศร้าจากพันธุกรรม ในกรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็อาจส่งต่อมายังสมาชิกคนอื่นได้ โดยอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารสื่อความรู้สึกในสมอง

-การผ่านช่วงเวลาเลวร้ายในชีวิตแล้วไม่สามารถลืมได้ เช่น ล้มเหลวทางธุรกิจติดต่อกันหลายครั้ง การสูญเสียครอบครัว การถูกข่มขืน

-ความเครียดจากการทำงานที่สะสมเอาไว้เป็นเวลานาน จนส่งผลต่อจิตใจโดยไม่รู้ตัว

-การเป็นคนมองโรคในแง่ร้ายไปเสียทุกอย่าง การไม่นับถือตัวเอง การถูกสบประมาทจากคนรอบข้าง

-การมีภาระหนี้สินจำนวนมากและไม่สามารถหาทางชำระหนี้ได้ จนเกิดความกลัวว่าจะโดนฟ้องร้อง

-การติดการพนัน ติดสุรา หรือยาเสพติด ก็เป็นปัจจัยให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน เพราะสิ่งเหล่านี้เข้าไปกระทบกับสารสื่อความรู้สึกในสมอง

การรักษาโรคซึมเศร้า

ในส่วนของการรักษาโรคซึมเศร้านั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด โดยการรักษาด้วยยานั้นแพทย์จะสั่งยาต้านอาการซึมเศร้าหรือที่เรียกว่า “ยาต้านเศร้า” ให้กับผู้ป่วย ร่วมกับยาคลายความเครียด และยานอนหลับ เพื่อให้ผู้ป่วยได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ส่วนการทำจิตบำบัดนั้นจะมีนักจิตวิทยาหรือพยาบาลวิชาชีพคอยพูดคุยและให้คำปรึกษา

แต่อย่างไรก็ตามนอกจากการรักษาดังกล่าวแล้วสิ่งสำคัญก็คือตัวผู้ป่วยเองก็ต้องมีการสร้างกำลังใจให้ตัวเองหรือปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตร่วมด้วย เช่น การออกกำลังกาย การพยายามมองโลกในแง่บวก การนั่งสมาธิ การทานยาตามที่หมอสั่งห้ามลด เพิ่ม หรือเลิกยาด้วยตัวเอง พยายามสร้างความสำเร็จเล็ก ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่า เมื่อรู้สึกเศร้าให้หาคนคุยหรือออกไปข้างนอก เพื่อให้สมองปลอดโปร่ง เป้นต้น

สรุป

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนด้วยปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป และหากสงสัยว่าตัวเองเกิดภาวะซึมเศร้าอย่าอายที่จะไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการหรือรับคำแนะนำในการรักษาตัวอย่างถูกต้อง รวมถึงหันกลับมารักและให้ความนับถือตัวเอง และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม ก็จะช่วยให้คุณหลุดพ้นจากภาวะนี้ โดยแต่ละคนก็อาจใช้เวลาแตกต่างกันออกไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.