สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ใช้วิธีตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้ว หลังจากรู้ผลว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์แน่ๆ หลายคนมักจะตื่นเต้น ดีใจ ปนกับความกังวล ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง บทความนี้จะมาแนะนำวิธีฝากท้องครั้งแรก มาดูกันว่า ฝากครรภ์ท้องแรกต้องทำยังไง เตรียมอะไรบ้าง ควรไปหาหมอตอนไหน ต้องตรวจอะไร พร้อมเปรียบเทียบการฝากครรภ์ที่คลินิกกับโรงพยาบาลต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นคู่มือให้คุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งมีลูกคนแรก
หัวข้อน่ารู้เกี่ยวกับการฝากครรภ์
- ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องใช้อะไรบ้าง
- เมื่อรู้ว่าตั้งท้องควรไปหาหมอตอนไหน
- ฝากครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้าง
- ฝากท้อง ที่คลินิกกับโรงพยาบาลต่างกันยังไง
- ฝากครรภ์โรงพยาบาล ราคาเท่าไหร่
- ฝากท้องคลินิก ราคากี่บาท
- ฝากครรภ์ จำเป็นต้องให้ สามีไปด้วยไหม
ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องใช้อะไรบ้าง
เมื่อตรวจการตั้งครรภ์และทราบผลแล้วว่าท้อง สิ่งที่คุณแม่มือใหม่ต้องทำเป็นขั้นตอนต่อไปคือ “การฝากครรภ์” มาดูกันว่า ฝากท้อง ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง
- บัตรประชาชน คุณแม่และคุณพ่อ
- ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งล่าสุดของคุณแม่
- ประวัติการเจ็บป่วยที่สำคัญของคุณแม่ เช่น โรคประจำตัว การแพ้ยา การรับวัคซีน เป็นต้น
นอกจากนี้ ถ้ามีผลตรวจการตั้งครรภ์ หรือทำประกันตั้งครรภ์ ประกันค่าคลอดบุตร หรือประกันสุขภาพต่างๆ ก็ควรนำติดตัวไปด้วย
เมื่อรู้ว่าตั้งท้องควรไปหาหมอตอนไหน
คุณแม่มือใหม่ ควรไปฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งท้อง โดยทั่วไปแนะนำให้ไปฝากท้อง ภายใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณหมอตรวจเช็ก นัดหมายติดตามสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ รวมทั้งให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง
ฝากครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้าง
การฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะตรวจสุขภาพของคุณแม่ เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์และอายุครรภ์ รวมทั้งตรวจคัดกรองความผิดปกติต่างๆ โดยเบื้องต้นการฝากท้องครั้งแรกจะตรวจ 4 อย่าง ดังนี้
ตรวจร่างกายทั่วไป
เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง ความดัน โรคประจำตัว การแพ้ยา ประวัติการผ่าตัด ยาที่ทานประจำ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและอาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์
ตรวจปัสสาวะ
เพื่อประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งท้อง เช่น เบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
ตรวจเลือด
เพื่อตรวจเช็กภาวะเลือดจาง และตรวจหาโรคติดเชื้อที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น เอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น
ตรวจอัลตร้าซาวด์หน้าท้อง
การอัลตร้าซาวด์หน้าท้อง เป็นการตรวจเพื่อดูขนาดการเจริญเติบโตของทารกที่อยู่ในครรภ์ ตำแหน่งการฝังตัวของทารกในครรภ์ว่าปกติดีหรือไม่
ฝากท้อง ที่คลินิกกับโรงพยาบาลต่างกันยังไง
สำหรับสาวๆคนไหน ที่ใช้วิธีตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองที่บ้าน ขั้นตอนถัดมาก็คือต้องตัดสินใจเลือกว่าจะไป ฝากท้องที่ไหนดี? ซึ่งสถานพยาบาลที่สาวๆสามารถฝากครรภ์ได้ โดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ คลินิก และโรงพยาบาล ซึ่งทั้งสองสถานที่นี้จะมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกันดังนี้
การฝากท้องที่คลินิก
ข้อดีของการฝากท้องที่คลินิก คือ สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ต่างๆ อาจมีน้อยกว่าโรงพยาบาล
การฝากท้องที่โรงพยาบาล
ข้อดีของการฝากท้องที่โรงพยาบาล คือ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือแพทย์ที่ครบครัน มีความพร้อมในกรณีฉุกเฉิน แต่อาจต้องรอคิวนาน และค่าใช้จ่ายอาจจะสูงกว่าคลินิก
สิ่งที่ควรคำนึงในการเลือกสถานที่ฝากครรภ์นั้นมีหลายอย่าง โดยหลักๆจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยดังนี้ เช่น
- ระยะทางและความสะดวกในการเดินทาง
- งบประมาณค่าใช้จ่าย
- ข้อมูลสถานพยาบาลที่สนใจ
ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละครอบครัวด้วยค่ะ
ฝากครรภ์โรงพยาบาล ราคาเท่าไหร่
ค่าใช้จ่ายการฝากครรภ์ ที่โรงพยาบาล ราคาเริ่มต้นประมาณ 3,000 – 10,000 บาท แต่ละโรงพยาบาลจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับบริการที่เลือกและแพ็กเกจ ซึ่งโรงพยาบาลรัฐจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน
ฝากท้องคลินิก ราคากี่บาท
ค่าใช้จ่ายการฝากครรภ์ ที่คลินิก ราคาเริ่มต้นประมาณ 2,000 – 4,000 บาท ซึ่งแต่ละคลินิกจะราคาไม่เท่ากัน สามารถค้นหาคำว่า คลินิกรับฝากครรภ์ ใกล้ฉัน เพื่อสอบถามราคาฝากท้องคลินิกใกล้บ้านได้
ฝากครรภ์ จำเป็นต้องให้ สามีไปด้วยไหม
การฝากครรภ์ ไม่จำเป็นต้องให้สามีไปด้วยนะคะ แต่หากเป็นคุณพ่อมือใหม่ก็ควรไปกับคุณแม่ เพื่อร่วมกันฟังคำแนะนำจากคุณหมอ และเพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเป็นคุณพ่อ
นอกจากนี้ หากมีคุณพ่อไปเป็นเพื่อนด้วย ก็จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกอบอุ่นใจมากขึ้นด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคนไหนที่สะดวกหรือเวลาว่างก็ควรไปกับคุณแม่ด้วยนะคะ
บทสรุป
หากสงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์หรือไม่ ให้ใช้วิธีตรวจการตั้งครรภ์เบื้องต้น โดยสามารถซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์จากร้านขายยามาตรวจได้ด้วยตัวเอง หากผลออกมาว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ ก็ควรไปฝากครรภ์ทันที เพราะการฝากครรภ์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคุณแม่มือใหม่ทุกคน การฝากท้องจะช่วยให้คุณแม่ได้รับการดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด ตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตรได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
บทความที่น่าสนใจ
- วิธีตรวจหาการตั้งครรภ์ ตรวจวิธีไหนแม่นยำที่สุด มาหาคำตอบไปพร้อมกัน!
- ที่ตรวจครรภ์ขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ท้อง เกิดจากสาเหตุใด