ปัจจุบันหลายครอบครัวอยากมีลูกแค่คนเดียว เนื่องจากปัญหาเศฐกิจของบ้านเราไม่เอื้อต่อการมีลูกหลายคน ทั้งการเงินกับค่าใช้จ่ายที่ผกผันกันโดยสิ้นเชิง ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเงินขาดมือที่หลายคนกลัว ครอบครัวไม่อยากมีลูกเพิ่มแล้ว คุณแม่เพิ่งคลอดลูกขอพักก่อนไม่อยากท้องอีก คุมกำเนิดแบบไหนที่ตอบโจทย์ สำหรับคุณแม่พึ่งคลอดลูก การคุมกำเนิดที่ปลอดภัย หรือวิธีการคุมกำเนิดถาวรทำได้โดยวิธีไหนบ้าง
สารบัญ
1. การคุมกำเนิดแบบถาวร (Permanent Contraception)
การคุมกำเนิดแบบถาวร หรือที่หลายคนรู้กันก็คือ การทำหมัน ซึ่งการทำหมันสามารถทำได้ทั้งในผู้หญิง และผู้ชาย การทำหมันถาวรเป็นการใช้วิธีทางการแพทย์เพื่อทำให้ท่อนำอสุจิ หรือท่อนำไข่ ไม่สามารถนำไข่และอสุจิออกมาเพื่อปฏิสนธิกันได้เมื่อมีเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิดถาวรหากตัดสินใจทำแล้วจะทำให้ไม่สามารถมีลูกได้อีก อย่างไรก็ตามควรพิจารณาก่อนทำอย่างถี่ถ้วน
-
การทำหมันในผู้ชาย (Male Sterilization, Vasectomy)
การทำหมันในผู้ชายจะเป็นการผ่าตัดเพื่อตัดท่อนำอสุจิ โดยการผ่าตัดที่บริณถุงอัณฑะเข้าไปยังท่อนำอสุจิเพื่อผูก หรือตัดตัวท่อนำอสุจิทั้ง 2 ข้าง เมื่อไม่มีตัวอสุจิออกมาแล้ว ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิกันของไข่และอสุจิเมื่อมีเพศสัมพันธ์
การทำหมันในผู้ชายสิ่งใครหลายคนเข้าใจผิดกันมาตลอดว่า ผู้ชายทำหมันแล้วทำให้ไม่มีอารมณ์ทางเพศ หรือความแข็งตัวของอวัยวะเพศผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย แท้จริงแล้วการทำหมันในผู้ชายไม่มีผลต่อฮอร์โมน และเมื่อทำหมันไปแล้วยังคงมีอารมณ์ทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะปกติทุกอย่าง เพียงแต่เมื่อเรามีเพศสัมพันธ์จะไม่มีตัวอสุจิออกมาปนกับน้ำอสุจิและทำให้ท้องนั้นเอง
-
การทำหมันในผู้หญิง (Female Sterilization, Tubal Sterilization)
การทำหมันในผู้หญิงจะเป็นการผ่าตัดเพื่อตัดหรือผูกท่อนำไข่ การอุดท่อนำไข่และทำให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาเพื่อให้ท่อนำไข่ตัน หรือในกรณีคุณแม่เพิ่งคลอดลูก หากคุณแม่มีการแจ้งความประสงค์ที่จะทำหมันกับทางทีมแพทย์ แพทย์จะทำการทำหมันให้เลยหลังคลอดเสร็จ
การทำหมันของผู้หญิงในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 วิธี นั่นก็คือ
- การทำหมันเปียกหรือการทำหมันหลังคลอดลูก แพทย์จะทำการผูกท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ขั้นตอนการทำหมันหลังคลอดลูก กรณีคลอดธรรมชาติ แพทย์จะทำการเจาะหน้าท้องบริเวณใต้สะดือเพื่อเข้าไปตัดท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง
- การทำหมันแบบแห้งหรือการทำหมันขณะที่มดลูกปกติ ไม่ได้อยู่ในช่วงหลังคลอดลูก แพทย์จะทำการผ่าหน้าท้องบริเวณเหนือกระดูกหัวหน่าวเล็กน้อย เพื่อเข้าไปผูกหรือตัดท่อนำไข่ หรือจะเป็นการผ่าแบบส่องกล้องเข้าไปช่วงใต้สะดือเพื่อเข้าไปตัดท่อนำไข่
- การทำหมันแบบผ่านกล้องไร้รอยแผล แพทย์จะส่องกล้องเข้าไปยังมดลูก และนำเครื่องมือสปริงโลหะใส่เข้าผ่านช่องคลอดแล้วสอดผ่านปลายเปิดท่อนำไข่ สปริงจะขยายตัวออกและบล็อกในส่วนของท่อนำไข่ วิธีนี้ใช้เวลาในการส่องกล้องเพียง 5-10 นาที แต่ต้องรอให้เกิดพังผืดบริเวณที่สปริงที่สอดเข้าไปเป็นเวลา 3 เดือน
2. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว (Temporary or Reversible Contraception)
การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว หรือการคุมกำเนิดโดยการทานยาคุม ฉีดยาคุม ฝังยาคุม หรือแปะยาคุมต่างๆ การคุมกำเนิดประเภทนี้เป็นการคุมกำเนอดเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดการใช้ยาร่างกายจะสามารถกลับมามีลูกได้อีกครั้ง ซึ่งการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบมากในปัจจุบัน เช่น
-
ถุงยางอนามัย (Condom)
ถุงยางอนามัยนับเป็นที่นิยมในสังคม ทั้งยังมีการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาคุมกำเนิดด้วยถุงยางกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากถุงยางหาซื้อได้ง่าย มีหลากหลายให้ได้เลือกใช้ทั้งของผู้ชายและผู้หญิง
-
ยาคุมกำเนิด (Oral Contraceptive)
การทำงานของยาคุมแบบทานแต่ละตัวมีการทำงานที่เฉพาะตัว ควรเลือกแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง ควรศึกษาสรรพคุณและข้อควรระวังก่อนใช้อย่างเคร่งครัด ยาคุมที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป จะมียาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนเดี่ยวเหมาะกับคุณแม่ให้นมลูกหรือคุณแม่หลังคลอดลูก ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมไม่แนะนำสำหรับคุณแม่ให้นมลูก ยาคุมฉุกเฉิน เป็นต้น
-
ยาคุมแบบฝัง (Contraceptive Implant)
ยาคุมกำเนิดแบบฝังมีให้เลือกไม่มากเท่ายาคุมกำเนิดแบบทาน แต่ระยะเวลาในการคุมกำเนิดต่อการฝัง 1 ครั้งอยู่ได้นานถึง 3-5 ปี แล้วแต่แบบที่เลือกใช้ การฝังยาคุมจำเป็นต้องฝังด้วยแพทย์ที่ได้รับการอบรมมาแล้วเท่านั้น แพทย์ทั่วไปไม่สามารถถอดหรือฝังยาคุมได้
-
ยาคุมแบบฉีด (Injectable Contraceptive)
ยาคุมแบบฉีด ระยะเวลาในการคุมกำเนิดจะน้อยกว่ายาคุมแบบฝัง แต่สะดวกสบายกว่าการใช้ยาคุมแบบทาน ไม่ต้องตั้งเวลาในการทาน ไม่ต้องกังวลว่าจะลืมกิน ยาคุมชนิดฉีดจะมี 2 ชนิด คือ แบบ 1 เข็มคุมกำเนิดได้ 3 เดือน และแบบ 1 เข็มคุมกำเนิดได้ 1 เดือน
-
ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device: IUD)
ห่วงคุมกำเนิดเป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงต่ำ และระยะเวลาในการคุมกำเนิดต่อการใส่ 1 ครั้ง ยาวนานถึง 3-5 ปี ซึ่งห่วงคุมกำเนิดมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบห่วงที่เคลือบสารทองแดง และแบบห่วงเคลือบฮอร์โมนโปรเจสติน
-
แผ่นแปะคุมกำเนิด (Transdermal Patch)
การทำงานของแผ่นแปะคุมกำเนิดจะเป็นการแปะแผ่นตัวยาที่ผิวหนัง ตัวยาจะซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการฉีดยาคุมหรือการทานยาคุม ใช้งานง่าย แต่ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลานาน
การคุมกำเนิดแบบถาวรเป็นสิ่งที่ดี ไม่ยุ่งยาก สำหรับครอบครัวที่ไม่อยากมีลูกเพิ่มแล้ว แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าอนาคตจะมีแผนในการมีลูกเพิ่มหรือไม่ แนะนำให้คุมกำเนิดแบบชั่วคราวไปก่อนจะดีกว่า การคุมกำเนิดในคุณแม่หลังคลอดลูกควรศึกษาก่อนอย่างถี่ถ้วน หรือปรึกษาสูตินารีแพทย์ก่อนเลือกคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิดบางชนิดมีผลต่อปริมาณน้ำนมและการแข็งตัวของลิ่มเลือดในตัวคุณแม่เอง
ดูหัวข้อที่เกี่ยวข้อง