ยังไม่อยากท้องก่อนแต่ง ป้องกันยังไง

ปัญหาการท้องก่อนแต่ง ท้องเมื่อไม่พร้อมถือว่าเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของสังคม อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ที่ปลายเหตุ การที่เราพลาดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจจะนำชีวิตเราไปเจอกับปัญหาที่ยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต

การคุมกำเนิดวิธีต่างๆ

  1. การคุมกำเนิดแบบถาวร
  2. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว

ปัจจุบันการคุมกำเนิดจึงถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญและสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน อายุเท่าไหร่ การเรียนรู้เรื่องการป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์นับว่าเป็นสิ่งที่ดี และไม่ผิดที่จะเรียนรู้แล้วควรนำไปปฏิบัติใช้ วิธีการคุมกำเนิด หรือ การป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จะแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ นั่นก็คือ

1. การคุมกำเนิดแบบถาวร (Permanent Contraception)

การคุมกำเนิดแบบถาวร หรือเรียกง่ายๆ คือ การทำหมัน ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย การทำหมันเป็นวิธีการคุมกำเนิดสำหรับครอบครัวที่ไม่อยากมีลูกเพิ่มแล้วในอนาคต

การทำหมันในผู้หญิง (Female Sterilization, Tubal Sterilization)

การทำหมันในผู้หญิง คือ การตัดหรือทำให้ท่อนำไขอุดตัน โดยวิธีทางการแพทย์ต่างๆ โดยหลังทำจะเป็นหมันในทันที

การทำหมันในผู้ชาย (Male Sterilization, Vasectomy)

การทำหมันในผู้ชาย คือ การผูกหรือตัดท่ออสุจิ เพื่อไม่ให้ตัวอสุจิถูกลำเลียงออกมาได้ เมื่อน้ำอสุจิที่ออกมาไม่มีตัวอสุจิแล้ว ทำให้ไม่เกิดการปฏิสนธิกับไข่ของเพศหญิงเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การทำหมันในผู้ชายเป็นสิ่งที่ง่ายและไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล หลังจากการทำแล้วสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ปกติ ความรู้สึกทางเพศไม่ได้ลดลง

2. การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว (Temporary or Reversible Contraception)

การคุมกำเนิดแบบชั่วคราว คือ การคุมกำเนิดที่มีผลขณะที่คุม เมื่อเลิกคุมแล้วสามารถมีลูกได้ตามปกติ โดยการคุมกำเนิดชั่วคราวแต่ละประเภทก็มีข้อแตกต่างกันไป

การป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย (Condom)

การใช้ถุงยางป้องกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในมดลูกในเพศหญิง นับว่าเป็นวิธีที่นิยมและถูกรณรงค์มากในสังคม เนื่องจากถุงยางสามารถหาซื้อได้ง่าย ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง และสามารถป้องกันการท้องก่อนแต่งหรือท้องไม่พร้อมได้ อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสติดโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) และการติดเชื้อ HIV ได้อีกด้วย

การทานยาคุมกำเนิด (Oral Contraceptive)

การทานยาคุมกำเนิด หรือการใช้ยาคุมประเภทรับประทาน เป็นวิธีการป้องกันและคุมกำเนิดได้มากถึง 99% โดยตัวยาจะทำหน้าที่เข้าไปยับยั้งการตกไข่ของผู้หญิง ทำให้ไม่อสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ และเมื่อหยุดทานก็สามารถกลับมามีลูกได้ตามปกติ ยาคุมแบบรับประทานมีทั้งหมด 3 ชนิด คือ ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว คือ ยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว, ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม คือ ยาคุมที่มีทั้งฮอร์โมโปรเจสตินและเอสโตรเจน ยาคุมชนิดนี้ถือว่าเป็นแบบที่ใช้กันมากที่สุด, ยาคุมชนิดฉุกเฉิน ใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิดในการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงกรณีการถูกกระทำชำเราโดยไม่ยินยอม ยาคุมประเภทรับประทาน จำเป็นต้องทานอย่างสม่ำเสมอ หากลืมทานอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงในการท้องได้

การฉีดยาคุมกำเนิด (Injectable Contraceptive)

ยาคุมแบบฉีด จะเป็นการฉีดตัวยาเข้าบริเวณกล้ามเนื้อ หลังจากนั้นตัวยาจะทำงานเข้าไปยับยั้งการตกไข่ ทำให้มูกบริเวณปากมดลูกมีลักษณะข้นเหนียวอสุจิสามารถผ่านไปได้ยาก และทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะกับการฝังตัวของตัวอ่อน ยาคุมชนิดฉีดจะมี 2 ชนิด คือ แบบ 1 เข็มคุมกำเนิดได้ 3 เดือน และแบบ 1 เข็มคุมกำเนิดได้ 1 เดือน ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงถึง 94-99%

การฝังยาคุมกำเนิด (Contraceptive Implant)

การฝังยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีผลออกฤทธิ์ของตัวยาในระยะยาวถึง 3-5 ปี การทำงานของยาคุมชนิดฝังเป็นการฝังแท่งยาคุมเข้าบริเวณท้องแขนด้านใน ตัวยาจะค่อยๆ ซึมเข้าสู่กระแสเลือด และเข้าไปยับยั้งการตกไข่ และทำให้โพรงมดลูกอยู่ในสภาพไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดการปฏิสนธิขึ้นแล้ว ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้มีมากถึง 99% การฝังยาคุมกำเนิดจำเป็นต้องฝังกับสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่เชียวชาญเท่านั้น และทำโดยแพทย์ที่ได้รับการอบรมมาแล้วเท่านั้น ไม่สามารถถอดหรือฝังโดยแพทย์ทั่วไปได้

สนใจคุมกำเนิดคลิกเลย

ฝังยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุมกำเนิด

การใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device: IUD)

การใส่ห่วงยาคุม เป็นการคุมกำเนิดที่นิยม เนื่องจากระยะเวลาในการออกฤทธิ์ของตัวยายาวนานถึง 3-10 ปี เป็นวิธีที่สะดวก และมีผลข้างเคียงต่ำ โดยการทำงานของห่วงคุมกำเนิดจะเข้าไปขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนบริเวณมดลูก ซึ่งห่วงคุมกำเนิดมีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบห่วงที่เคลือบสารทองแดง และแบบห่วงเคลือบฮอร์โมนโปรเจสติน

การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด (Transdermal Patch)

แผ่นแปะคุมกำเนิด จะเป็นแผ่นยาที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสตินอยู่ การทำงานของแผ่นแปะ คือ ตัวยาจะซึมผ่านเข้ากระแสเลือด มีทำงานและประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการฉีดยาคุมหรือการทานยาคุม ใช้งานง่ายกว่า แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลานาน

สรุป

จากวิธีการคุมกำเนิด ที่กล่าวมาทั้งหมดมีประสิทธิภาพการป้องกันการปัญหาท้องไม่พร้อม การท้องก่อนแต่ง มาถึง 99% แต่การป้องกันการท้องไม่พร้อม ท้องก่อนแต่งที่ดีที่สุด คือ การไม่มีเพศสัมพันธ์ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ถุงยางอนามัยและใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ควบคู่กับไป ด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูงที่สุด ไม่ควรใช้วิธีที่ผิดและอาจเกิดความเสี่ยงในการท้องและติดเชื้อผ่านหลัง เช่น การหลั่งนอก การปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ การล้างช่องคลอด หรือการนับวันไข่ตก เป็นต้น

กลับไปที่หัวข้อ
This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.