การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยถือเป็นค่าใช้จ่ายประเภทที่จำเป็นและฉุกเฉินในคราวเดียวกัน ทุกคนจึงควรมีเงินออมสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในส่วนนี้อยู่ แต่นอกจากการเก็บออมแล้วการตรวจสอบสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลก็สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้สิทธิราชการเพื่อเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะช่วยแบ่งเบาภาระได้เป็นอย่างมาก ข้าราชการทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่บรรจุใหม่จึงต้องทำความเข้าใจวิธีการใช้สิทธิราชการเพื่อให้ดำเนินการได้ง่ายเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้จริง ๆ
ตรวจสอบว่ามีสิทธิหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง
ข้าราชการสามารถใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนตรวจสอบสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลได้ โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง หรือผ่านแอปพลิเคชัน CGDiHealthCare (Android/iOS) ว่ามีสิทธิหรือไม่ โดยใช้เพียงเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลักเท่านั้น ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเป็นกรณีไปอีกด้วย
-
1. สิทธิข้าราชการครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
สิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาลจะครอบคลุมค่าใช้เรื่องค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่าอวัยวะเทียม ค่าบริการทางการแพทย์ต่าง ๆ ค่าห้องและค่าอาหารในกรณีที่นอนพักอยู่ในสถานพยาบาล รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับรายละเอียดของสิทธิและโรคของแต่ละบุคคลด้วย
-
2. สมาชิกในครอบครัวคนใดบ้างที่สามารถใช้สิทธิข้าราชการได้
ข้าราชการยังสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ โดยจะต้องเป็นบิดา มารดา คู่สมรสตามกฎหมาย บุตรที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายที่อายุยังไม่เกิน 20 ปีหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะแล้วแต่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ในกรณีที่มีสิทธิซ้ำซ้อน เช่น มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้ว หากเป็นข้าราชการให้แจ้งเปลี่ยนแปลงสิทธิกับนายทะเบียนต้นสังกัดเมื่อต้องการใช้สิทธิข้าราชการ และถ้าเป็นครอบครัวของข้าราชการให้ใช้สิทธิที่มีอยู่แล้วก่อน
เอกสารที่จำเป็นต้องใช้
เอกสารที่จำเป็นสำหรับการใช้สิทธิราชการอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างแล้วแต่ต้นสังกัดของข้าราชการ ให้ยื่นเรื่องกับต้นสังกัดให้เรียบร้อยเพื่อสอบถามรายละเอียด เนื่องจากอาจมีแบบฟอร์มสำหรับกรอกข้อมูลเบิกจ่ายที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน เอกสารหลักที่ควรเตรียมให้พร้อมคือบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาล ใบสั่งยาในกรณีที่สถานพยาบาลไม่มียาจำหน่ายให้ผู้ป่วย และเอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็นแล้วแต่กรณี เช่น ทะเบียนสมรส สำเนาหนังสือรับรองบุตร เป็นต้น เมื่อตรวจสอบสิทธิและเตรียมเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว หลังเข้ารับการรักษาสถานพยาบาลจะสรุปรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในส่วนที่จากสามารถเบิกจากกรมบัญชีกลางได้ สถานพยาบาลจะดำเนินการเองต่อไป ส่วนที่เบิกไม่ได้ก็จะเรียกเก็บจากผู้ป่วย โดยส่วนเกินที่เรียกเก็บนั้นไม่สามารถนำใบเสร็จไปเบิกได้
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่ทำได้ง่ายและสะดวกสบายผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วย โดยใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง หากใช้บัญชีธนาคารกรุงไทยก็จะสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้ได้เลย สามารถเข้าไปตรวจสอบสิทธิและรายการที่สามารถเบิกจ่ายได้โดยไม่ต้องรอคิว การใช้สิทธิราชการมีขั้นตอนต่าง ๆ ในการดำเนินการ ดังนั้นควรศึกษารายละเอียดและเอกสารจำเป็นที่ต้องใช้ให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อความรวดเร็วในการใช้สิทธิ