มือและนิ้วมือเป็นอวัยวะที่เราต้องใช้งานในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานออฟฟิศและผู้ที่ต้องทำงานโดยการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคได้ หากเป็นโรคนิ้วล็อคก็จะทำให้ประสบความยากลำบากในการทำงาน จึงควรหาวิธีป้องกันโรคนิ้วล็อคให้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในระยะยาว
สารบัญ
อาการของโรคนิ้วล็อคแบ่งตามระยะต่าง ๆ
อาการของโรคนิ้วล็อคคืออาการของนิ้วมือที่ไม่สามารถเหยียดและงอได้ตามปกติ อาจเป็นนิ้วเดียวหรือเป็นหลายนิ้วในเวลาเดียวกัน ต้องดึงง้างออกจึงจะกางนิ้วได้ตามปกติ เป็นความผิดปกติของอวัยวะส่วนที่เรียกว่าปลอกเอ็นซึ่งอยู่บริเวณโคนนิ้วที่มีอาการบวมหนามากขึ้น จนรัดเอ็นมากขึ้น แล้วทำให้เกิดอาการปวด หากไม่ป้องกันโรคนิ้วล็อคจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การหิ้วของหนักเป็นเวลานาน ทำกิจกรรมที่ต้องจับหรือถืออุปกรณ์นาน ๆ รวมถึงโรคเบาหวานและโรครูมาตอยด์ ก็จะทำให้อาการเรื้อรัง รักษาได้ยากจนต้องใช้วิธีผ่าตัด โดยอาการของโรคนิ้วล็อคแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 มีอาการปวด ตึง กดบริเวณโคนนิ้วด้านหน้าแล้วเจ็บ ยังงอและเหยียดนิ้วได้เต็มที่ รักษาได้ด้วยยากินและยาทา อาศัยการหมั่นบริหารนิ้วช่วย ใช้น้ำอุ่นช่วยคลายกล้ามเนื้อ ระยะนี้ยังสามารถป้องกันโรคนิ้วล็อคไม่ให้พัฒนาไปสู่ระยะต่อไปได้
- ระยะที่ 2 มีอาการปวดร่วมกับอาการสะดุดเมื่องอหรือเหยียดนิ้ว ต้องช่วยง้างออกเมื่อเหยียดนิ้ว ระยะนี้ยังรักษาได้ด้วยการกินยาและทายา รวมถึงการบริหารนิ้ว
- ระยะที่ 3 งอนิ้วไม่ได้ หรืองอได้แต่เหยียดนิ้วไม่ได้ ต้องช่วยง้างนิ้วออก ต้องรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณปลอกหุ้มเอ็น และใช้การบริหารนิ้วช่วย
- ระยะที่ 4 นิ้วติดอยู่ในท่าเดิมอยู่นาน ไม่สามารถงอและเหยียดนิ้ว ต้องรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์หรือการผ่าตัด แต่เนื่องจากการฉีดยาสเตียรอยด์จะส่งผลให้เอ็นขาดได้ จึงไม่ควรฉีดบ่อยครั้ง
วิธีป้องกันโรคนิ้วล็อค เพื่อลดความเสี่ยงในระยะยาว
การป้องกันโรคนิ้วล็อคสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับการปรับพฤติกรรมและการดูแลเอาใจใส่สุขภาพของมือโดยรวม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคข้ออักเสบ โรคเกาต์ และโรคเบาหวาน ยิ่งต้องดูแลเอาใจใส่มากยิ่งขึ้น
- ลดพฤติกรรมเสี่ยง การป้องกันโรคนิ้วล็อคที่ได้ผลคือการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ การหิ้วหรือยกของหนัก การซักผ้าแล้วบิดผ้าแรง ๆ ทำงานเกี่ยวกับการพิมพ์เอกสารต่อเนื่องโดยไม่พัก เป็นต้น ควรใช้อุปกรณ์หรือเครื่องทุ่นแรงจะช่วยถนอมมือและนิ้วได้
- หมั่นบริหารมือและนิ้วมือหลังใช้งาน บริหารนิ้วมือหลังจากใช้งานเป็นเวลานานด้วยการแช่น้ำอุ่น กดนวดและยืดเหยียดให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคเกาต์และข้ออักเสบ ได้แก่ อาหารที่มีพิวรีนสูง ซึ่งเป็นอาหารจำพวกเครื่องใน อาหารทะเล และแอลกอฮอล์
ถึงแม้โรคนิ้วล็อคจะมีวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและตรงจุด แต่กันไว้ก็ดีกว่าแก้ ไม่ควรประมาท เพราะการรักษาเมื่อมีอาการหนักแล้วอาจทำให้เสียเวลามากกว่าการป้องกันโรคนิ้วล็อคด้วยการนั่งบริหารมือก็ได้
กลับสู่สารบัญ