ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) พอพูดถึงอาการนี้หลายคนที่เคยเป็นคงจะรู้ดีว่ามันสร้างทั้งความเจ็บปวดทรมาน ยิ่งถ้าโดนเพื่อนล้อด้วยแล้วยิ่งทำให้เกิดความอับอาย ส่วนผู้ที่ไม่เคยเป็นก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไปเพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างไรก็ตามเราสารมารถป้องกันริดสีดวงทวารได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือหากเป็นแล้วก็สามารถรักษาได้เช่นกัน บทความนี้เรามีรายละเอียดมาฝากกัน
ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) คืออะไร
ริดสีดวงทวาร คืออาการที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักหรือบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายมีอาการบวมอักเสบ จนยืดตัวออกมาเป็นติ่งเนื้อ เมื่อใช้ปลายนิ้วสัมผัสจะรู้สึกได้ โดยอาการและความรุนแรงก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งริดสีดวงทวารสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ
1. ริดสีดวงทวารภายใน
ริดสีดวงภายใน เป็นประเภทของริดสีดวงซึ่งเกิดที่ปลายสุดของลำไส้ใหญ่ บริเวณเหนือรูทวารเข้าไป โดยริดสีดวงประเภทนี้จะไม่มีติ่งเนื้อยื่นออกมาภายนอก มีเลือกออกแต่ไม่เจ็บ รวมถึงไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ แต่มีโอกาสที่จะลุกลามเป็นแผลขนาดใหญ่ได้
2.ริดสีดวงทวารภายนอก
ต่างจากริดสีดวงภายในริดสีดวงภายนอกจะมีอาการติ่งเนื้อหรือตัวริดสีดวงยื่นออกมาจนสัมผัสได้ มีความบวม อักเสบและมีเลือดไหลเวลาขับถ่าย เจ็บแสบเวลาจะลุกหรือนั่ง และอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาด้วย
สาเหตุของริดสีดวงทวาร
ในส่วนของสาเหตุการเกิดริดสีดวงทวารนั้น มีหลายประการด้วยกันหลัก ๆ แล้วจะมาจากพฤติกรรมใช้ชีวิต และอาจส่งต่อทางพันธุกรรมได้ด้วย มาดูกันว่าการใช้ชีวิตแบบไหนที่อาจพาคุณไปสัมผัสกับเจ้าอาการริดสีดวงนี้ได้บ้าง
-อาการท้องผูก การเบ่งอุจจาระแรง ๆ หรือการนั่งถ่ายเป็นเวลานาน ๆ
-กลุ่มรักร่วมเพศที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
-เป็นผู้ที่มีอาการท้องเสียบ่อย ๆ
-มีคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรคริดสีดวงทวาร
-ต้องทำงานหรือยกของที่มีน้ำหนักมมาก ๆ เป็นประจำ
-ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
-ผู้สูงอายุที่เนื้อเยื่อทางทวารหนักเสื่อมสภาพ
-การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป
-ผู้ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคอ้วน โรคตับแข็ง อยู่ในภาวะการตั้งครรภ์ ซึ่งโรคเหล่านี้มักไปเพิ่มความดันในช่องท้อง
อาการของโรคริดสีดวงทวาร
สำหรับอาการของผู้ป่วยเป็นโรคริดสีดวงทวารนั้น ที่สังเกตง่ายสุดก็คือการมีเลือดปนออกมากับอุจจาระหรือมีเลือดไหลหลังจากอุจจาระ มีความเจ็บปวดตรงบริเวณที่เกิดริดสีดวง อาจมีอาการคันร่วมด้วย หากเป็นริดสีดวงภายนอดคลำดูจะพบว่ามีติ่งเนื้อยื่นออกมา หรือในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น หน้ามืดหรือเวียนหัวร่วมด้วย
การรักษาโรคริดสีดวงทวาร
ในการรักษาโรคริดสีดวงทวารนั้น แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบไม่ต้องผ่าตัด และการรักษาด้วยการผ่าตัด
1. การรักษาริดสีดวงทวารโดยไม่ต้องผ่าตัด
-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มขึ้น ดื่มน้ำบ่อย ๆ
-ก่อนและหลังถ่ายอุจจาระให้นั่งในน้ำอุ่นราว 10-15 นาที เพื่อลดการขยายตัวของหลอดเลือดดำ ทำให้การปวดหรืออักเสบเบาบางลง
-การรับประทานยาหรือเหน็บยา เพื่อลดอาการปวดและการบวมของหลอดเลือดดำ
-การฉีดยาบริเวณเหนือหูรูดทวารหนัก โดยที่ไม่ฉีดลงไปตรงริดสีดวงโดยตรงเพราะยาอาจเข้าไปในเส้นเลือดจนทำให้ผู้ป่วยแน่นหน้าอกหรือปวดท้องได้
-การจี้ริดสีดวงด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้าและอินฟราเรด
2. การรักษาริดสีดวงทวารด้วยการผ่าตัด
สำหรับการรักษาริดสีดวงทวารด้วยการผ่าตัดนั้น ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ โดยมักทำกับผู้ป่าวยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง เช่น อักเสบมาก หัวริดสีดวงมีขนาดใหญ่ โดยแบ่งการผ่าตัดออกเป็นหลายแบบคือ
-การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบธรรมดา มักใช้กับผู้ป่วยที่หัวริดสีดวงทวารมีขนาดค่อนข้างใหญ่ เป็นการผ่าทิ้งแล้วเย็บแผล ซึ่งอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นค่อนข้างนาน
-การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเลเซอร์ เป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะใช้การยิงเลเซอร์เพื่อทำให้หัวริดสีดวงฝ่อแล้วยุบลง ต่างจากวิธีแรกคือแผลจะไม่กว้างมากและไม่ต้องเย็บแผล ฟื้นตัวได้เร็ว
-การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ เป็นวิธีที่นิยมใช้ในผู้ป่วยริดสีดวงทวารภายในหรือมีริดสีดวงหลายหัว โดยเครื่องมือที่ใช้จะทำการผ่าตัดและเย็บแผลอัตโนมัติ
-การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบเย็บผูกเส้นเลือดริดสีดวง อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ แพทย์จะใช้การเย็บผูกเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวริดสีดวงแล้วรั้งกลับเข้าไปภายใน เป็นการรักษาริดสีดวงทวารแบบภายนอกที่มีหัวใหญ่ วิธีการนี้จำทำให้หัวริดสีดวงค่อย ๆ ฝ่อลง
การป้องกันริดสีดวงทวาร
สำหรับการป้องกันริดสีดวงทวารนั้น สามารถทำได้ด้วยตัวเองโดย เลือกรับประทานผักและผลไม่ที่มีกากใยสูง ดื่มน้ำให้มากขึ้น ใช้กระดาษชำระที่มีความอ่อนนุ่ม ล้างก้นด้วยน้ำสะอาด ไม่เบ่งอุจจาระแรง ๆ หรือนั่งในห้องน้ำเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงอาหารที่ทานแล้วเสี่ยงต่ออาการท้องเสียง ทั้งนี้หากพบว่ามีการอักเสบหรือมีเลือดออกมากควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
สรุป
ริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คุณคิด แค่ท้องผูกหรือท้องเสียบ่อย ๆ ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้แล้ว รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำน้อย การยกของหนักบ่อย ๆ การนั่งอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ เหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงทั้งสิ้น แต่ก็มีวิธีการป้องกันตามที่เรานำมาฝาก ลองนำไปใชกันดูเพื่อเลี่ยงความทรมานจากอาการริดสีดวงทวารที่บอกเลยว่าคุณไม่อยากเป็นอย่างแน่นอน