วิธีสังเกตอาการวัณโรคระยะแรก

วิธีสังเกตอาการวัณโรคระยะแรก

วัณโรคเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว และหลายคนมักไม่รู้ตัวว่าตัวเองได้รับเชื้อชนิดนี้ เพราะอาการของโรคไม่ได้มีการแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน จึงทำให้กว่าที่จะรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคนี้ ผู้ป่วยก็จะมีอาการที่หนักและได้รับการรักษาช้า ทำให้เสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิตมากขึ้น นอกจากนี้วัณโรคยังเป็นโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนาน และมีการติดต่อที่ง่าย จึงทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่คนรอบข้างได้อย่างไม่ทันได้ตั้งตัว

วัณโรคสามารถติดต่อได้ทางไหนบ้าง

วัณโรคมีการแพร่เชื้อทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การจาม การไอ การหายใจ หรือจะเป็นการทำกิจกรรมอะไรก็ตาม บุคคลที่อยู่ใกล้กับผู้ป่วยก็มีโอกาสได้รับเชื้อทั้งสิ้น เพราะการแพร่กระจายของโรคนี้จะเกิดขึ้นในรูปแบบของละอองฝอยลอยตามอากาศ เมื่อคนที่ไม่ได้ติดเชื้ออยู่ใกล้กับผู้ป่วย และสูดอากาศหายใจเข้าไปก็จะได้รับละอองฝอยพร้อมเชื้อวัณโรคเข้าทางเดินหายใจ และทำให้ติดเชื้อวัณโรคได้ในทันที

9 อาการเช็กด่วน อาจเป็นวัณโรคในระยะแรก

การหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เป็นประจำ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นสิ่งที่ควรจะทำ เพราะการที่คนเราหมั่นสังเกตตัวเองแล้วพบว่า มีความผิดปกติใด ๆ ก็ตามเกิดขึ้นกับร่างกาย จะทำให้สามารถตรวจพบโรคได้เร็วมากขึ้น ซึ่งการที่พบโรคได้เร็วก็ทำให้เพิ่มโอกาสหายได้เร็วเช่นเดียวกัน ยิ่งถ้าเป็นโรคติดต่อทางอากาศแบบโรควัณโรคที่มีการติดต่อได้ง่าย แต่ไม่ค่อยแสดงอาการของโรคออกมาได้อย่างแน่ชัด ยิ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นอย่างมาก เพราะถ้าปล่อยให้มีอาการเพิ่มมากขึ้นก็จะเพิ่มความรุนแรงของโรคมากขึ้น ซึ่งด้วยความไม่รู้ของบางคน อาจทำให้เกิดอาการร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

หลังจากที่ได้รับเชื้อวัณโรคมาแล้ว โดยปกติระยะฟักตัวของเชื้อโรคจะใช้เวลา 4-8 สัปดาห์ ซึ่งอาการจะเริ่มแสดงออกจนสังเกตได้ง่าย เมื่อเชื้อเริ่มลุกลามไปสู่ระยะเริ่มต้นของปอดอักเสบ คือ

  1. รู้สึกได้ถึงอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่อยากอาหาร จนน้ำหนักลดลงผิดปกติ
  2. พบว่ามีไข้ต่ำ ๆ
  3. หนาวสั่น และมีเหงื่อออกในช่วงเวลากลางคืน
  4. ระยะแรกจะเริ่มจากไอแห้งบ่อย ๆ
  5. ต่อมามักจะเริ่มมีการไอแบบมีเสมหะ หรือบางรายมีเลือดปนออกมาด้วย และไอหนักขึ้น
  6. ไออยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเข้านอน หลังตื่นนอน และหลังรับประทานอาหาร
  7. อาหารไอนี้มักจะเป็นเรื้อรัง ยาวนานกว่า 3 สัปดาห์
  8. สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มอาการหนักขึ้น มักมีอาการหอบร่วมด้วย และอาจพบก้อนเลือดลักษณะสีแดงหรือดำออกมาปนกับเสมหะ
  9. ในผู้ป่วยบางรายพบว่า ไม่มีอาการไอ แต่มีอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งต้องตรวจวินิจฉัยผ่านการเอกซเรย์ปอด

หากว่ามีอาการไอที่ผิดปกติและมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แนะนำว่าต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองวัณโรคในทันที เพราะโรคนี้มักมุ่งตรงไปทำลายปอด การไอเรื้อรังมากกว่า 3 สัปดาห์มักเป็นสาเหตุแรกที่ทำให้รู้ว่าร่างกายมีความผิดปกติเกิดขึ้น และยิ่งการเพิ่มความรุนแรงในการไอมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องรีบเข้ารับการตรวจทันที หากว่าตรวจแล้วผลออกมาไม่ได้เป็นวัณโรคหรือเป็นโรคอื่น อย่างน้อยการรู้เร็วว่าป่วยเป็นโรคอะไร จะได้รับการรักษาได้ตรงจุด เพราะการรับการรักษาเร็วจะมีผลให้ผู้ป่วยหายจากโรคต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นนั่นเอง

บทความที่น่าสนใจ
ตอบคำถามเรื่องวัณโรค ทุกข้อสงสัยที่คุณอยากรู้!
การปฏิบัติตัวและการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่บ้าน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.