พาราเซตามอล กินอย่างไร้ให้ปลอดภัย

หากให้เวลาจำกัดแล้วถามชื่อยาสักชนิด เชื่อว่าพาราเซตามอล (Paracetamol) น่าจะเป็นชื่อหนึ่งที่หลายคนคิดออกเป็นชื่อแรก เรียกว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นไข้ ปวดหัว ปวดฟัน ก็มักจะถามหายาชนิดนี้ เหมือนกับว่าเป็นญาติสนิทมิตรสหายเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากยาพาราเป็นยาใช้ภายในทำให้การกินยาตัวนี้มีทั้งผลดีและข้อควรระวังในการใช้ ส่วนจะกินอย่างไรให้ปลอดภัย บทความนี้มีคำตอบ

ทำความรู้จักพาราเซตามอลกันก่อน

ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือที่เราเรียกกันติดปากสั้น ๆ ว่า “ยาพารา” นั้น เป็นยาที่มีสรรพคุณในการบรรเทาปวด ลดไข้ อาทิ ปวดหัว มีไข้ อาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ปวดฟัน อาการปวดจากการมีรอบเดือน ปวดจากปัญหาข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บหรือผู้สูงอายุ โดยเรามักคุ้นเคยกับเจ้าพาราเซตามอลแบบเม็ดที่แทบทุกบ้านต้องมีติดเอาไว้ แต่จริง ๆ แล้วยานี้มีหลายแบบด้วยกันคือ แบบแคปซูล แบบละลายน้ำ แบบน้ำสำหรับเด็ก แบบสอด รวมถึงที่หลายคนอาจไม่รู้คือมีแบบสารละลายที่ให้ผ่านหลอดเลือดดำอีกด้วย

ยาพาราเซตามอลเหมาะกับใครบ้าง

ก่อนอื่นเรามาดูกันว่าใครบ้างที่สามารถใช้ยาพาราเซตามอลได้บ้าง ซึ่งโดยปกติแล้วยาที่สามารถใช้ได้กับบุคคลทั่วไปแม้แต่คุณแม่ที่กำลังให้นมลูกหรือว่าอยู่ในระยะของการตั้งครรภ์ รวมถึงทารกที่มีอายุเกิน 2 เดือนก็ใช้ยานี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามยาพาราเซตามอลอาจมีข้อจำกัดสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือผู้ป่วยบางโรค อาทิ ผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้ ผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต ผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางตัวซึ่งไม่ควรกินร่วมกับยาพาราด้วย

วิธีกินยาพาราเซตามอลอย่างปลอดภัย

ในส่วนของการกินยาพาราเซตามอลให้ปลอดภัยนั้น ขอแยกเป็นของเด็กและของผู้ใหญ่เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นดังนี้คือ

-การใช้ยาพาราเซตามอลในเด็ก สามารถแยกออกเป็นทั้งยาน้ำและยาเม็ด โดยยาน้ำ 1 ช้อนชานั้นจะมี 5 ซีซี มีตัวยาอยู่ที่ 120, 160 และ 250 มิลลิกรัม ส่วนยาเม็ดนั้นมีขนาด 325 และ 500 มิลลิกรัม ส่วนการจะกินมากน้อยแค่ไหนนั้นจะพิจารณาจากน้ำหนักตัวและอายุ ซึ่งควรสอบถามจากแพทย์หรือเภสัชกร หรืออ่านฉลากยาอย่างละเอียดก่อนทุกครั้ง

-การใช้ยาพาราเซตามอลในผู้ใหญ่ โดยปกติจะเป็นยาเม็ดขนาด 325 และ 500 มิลลิกรัม สามารถกินได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ในปริมาณ 1-2 เม็ด/ครั้ง และไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน รวมถึงไม่ควรกินติดต่อกันนานเกิน 5 วันด้วย

กลุ่มยาที่ไม่ควรกินคู่กับยาพาราเซตามอล

ในส่วนของกลุ่มยาที่ไม่แนะนำให้กินคู่กับยาพาราเซตามอลนั้นประกอบไปด้วย ยากันชักคาร์บามาซีปีน, ยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซล, ยาลิกซิเซนอะไทด์ ของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2, ยารักษามะเร็งอิมาทินิบ, ยาแก้อาเจียน เมโทโคลพราไมด์, ยาต้านการแข็งตัวของเลือดวาร์ฟาริน, ยาบรรเทาผื่นคันคอเลสไตรามีน, ยากันชักฟีนีโทอิน เป็นต้น

อาการแบบไหนที่แสดงว่าแพ้ยาพาราเซตามอล

หลายคนอาจจะสงสัยว่าแค่ยาพาราเซตามอลเองจะมีอาการแพ้ด้วยเหรอ ซึ่งเราขอบอกว่าไม่ว่ายาอะไรก็ตามมีสิทธิ์ที่เราจะแพ้ได้ทั้งสิ้น โดยอาการของผู้ที่แพ้ยาพารานั้น อาทิ เป็นผื่นแดง คลื่นไส้ อาเจียน หน้าบวม ตัวซีดหรือเหลือง มีตุ่มน้ำหนอง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ผิวลอก ปวดท้อง หากกินยาพาราแล้วมีอาการดังกล่าวมานี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าแพ้ยาและควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป

เรื่องที่หลายคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาพาราเซตามอล

เชื่อว่าหลายคนอาจเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้างนั่นก็คือ “กินยากันไว้ก่อน” จะได้ไม่เป็นไข้หรือไม่สบาย ในกรณีนี้เราขอบอกว่าเป็นความเชื่อที่ผิด และไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลทางการแพทย์มากนัก โดยหากไม่มีอาการป่วยแล้วกินยาดักไว้ก็ไม่เกิดประสิทธิภาพในการรักแต่อย่างใดและอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายด้วย ยกเว้นว่าเริ่มมีอาการตัวร้อนหรือมีไข้จริง ๆ เท่านั้น

สรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของยาพาราเซตามอล ยาสามัญประจำบ้านที่แทบทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ก็มักจะมีความเข้าใจหรือใช้ยาพารากันแบบผิด ๆ หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณรู้จักยาชนิดนี้และใช้ยาได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพราะการกินยาอย่างถูกวิธีและในปริมาณที่เหมาะสมย่อมนำมาซึ่งประสิทธิภาพและความปลอดภัยนั่นเอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.