น้ำยาทำความสะอาดแผล : สารละลายไฮโปคลอรัส

น้ำยาทำความสะอาดแผล

การทำความสะอาดแผลเป็นหนึ่งกระบวนการสำคัญในการกำจัดสิ่งสกปรกปนเปื้อน เชื้อโรค สิ่งขับหลั่งจากแผล และเนื้อเยื่อที่ตาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขัดขวางกระบวนการหายของแผล สารละลายที่นิยมใช้ในการทำความสะอาดแผล คือน้ำเกลือนอร์มอล (Normal Saline) แต่ในปัจจุบันการใช้น้ำยาทำความสะอาดแผลที่มีคุณสมบัติในการทำลายเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดแผลติดเชื้อ ซึ่งในบทความนี้จะขอกล่าวถึง น้ำยาทำความสะอาดแผล สารละลายไฮโปคลอรัส (HYPOCHLOROUS (HOCI) SOLUTION)

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับสารละลายไฮโปคลอรัส

จากการทบทวนวรรณกรรมและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ไฮโปคลอรัส (HOCI) เป็นสารที่ปลอดภัยและเป็นสารเดียวกับที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นตามธรรมชาติ สารละลายไฮโปคลอรัส (HYPOCHLOROUS SOLUTION) ที่ใช้ในการทำความสะอาดแผล

ประกอบด้วย กรดไฮโปคลอรัส (HOCI) และโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCI) ซึ่งกรดไฮโปคลอรัส (HOCI) จะออกฤทธิ์ทำลายเชื้อโรค ส่วนโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCI) จะทำงานร่วมกับ HOCI ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและช่วยรักษาความคงตัวของสารละลาย

ไฮโปคลอรัส

สำหรับสารละลายไฮโปคลอรัสที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อ คือ Performance Stabilized Hypochlorous acid ที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีออกชิเดชันของน้ำ (H2O) และเกลือโซเดียมคลอไรด์ (NaCI) ซึ่งมีค่าดัชนีความเข้ากันได้ทางชีวภาพสูงที่แสดงถึงความปลอดภัยและความเป็นพิษต่อเซลล์ต่ำ

คุณสมบัติของสารละลายไฮโปคลอรัส

  • ทำลายเชื้อโรค กลไกคล้ายกับกระบวนการป้องกันเชื้อโรคของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำลายโครงสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรียไวรัสเชื้อราไบโอฟิล์ม (Biofilm) และทำลายโปรตีนและดีเอ็นเอของเชื้อโรค
  • ไม่ทำลายเนื้อเยื่อที่กำลังงอกขยายของพื้นแผล ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ของร่างกาย
  • ช่วยลดการอักเสบโดยการลดระดับสารก่อการอักเสบ และลดการหลั่งสารไซโตไคน์จากแมสต์เซลล์ (Mast cells)
  • กระตุ้นการเคลื่อนที่ของเซลล์ไฟโบรบลาสต์ (Fibroblasts) และเคราติโนไซต์ (Keratinocytes) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่
  • เพิ่มการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Vascularization) และคอลลาเจน (Collagen) ช่วยส่งเสริมกระบวนการหายของแผล





แผลที่เหมาะกับการใช้สารละลายไฮโปคลอรัส

สามารถใช้ได้กับแผลหลายประเภท

  • แผลเรื้อรัง: แผลเบาหวาน แผลกดทับ แผลหลอดเลือดดำ
  • แผลเฉียบพลัน: แผลจากอุบัติเหตุ แผลผ่าตัด แผลไฟไหม้
  • แผลที่มีการปนเปื้อนหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ/แผลติดเชื้อ: แผลที่สัมผัสกับของเสีย แผลที่มีอาการอักเสบ แผลที่มีโพรง/แผลที่มีความลึก/แผลรูทะลุ

วิธีการใช้สารละลายไฮโปคลอรัส

  • กรณีแผลตื้น/ไม่มีความลึก/แผลผ่าตัด: ใช้สำลีชุบสารละลายไฮโปคลอรัสเช็ดทำความสะอาดบริเวณพื้นแผลและบริเวณรอบแผล
  • กรณีแผลมีโพรง/มีความลึก: ใช้สารละลายไฮโปคลอรัส ฉีดล้างทำความสะอาดบริเวณโพรงแผล

การทำความสะอาดแผลควรดำเนินการภายใต้หลักการปลอดเชื้อ เลือกน้ำยาทำความสะอาดแผลที่ เหมาะสม สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมกระบวนการหายของแผลได้

เอกสารอ้างอิง

  • Kramer A, Dissemond J, Kim S, Willy C, Mayer D, Papke R, Tuchmann F, Assadian O. Consensus on Wound Antisepsis: Update 2018. Skin Pharmacol Physiol. 2018;31(1):28-58. doi: 10.1159/000481545. Epub 2017 Dec 21. PMID: 29262416.
  • Armstrong DG, Bohn G, Glat P, Kavros SJ, Kirsner R, Snyder R, Tettelbach W. Expert Recommendations for the Use of Hypochlorous Solution: Science and Clinical Application. Ostomy Wound Manage. 2015 May;61(5):S2-S19. PMID: 28692424.
  • WHO Essential Medicines List. Hypochlorous Acid (HOCl) for disinfection, antisepsis, and wound care in Core Categories 15.1, 15.2, and 13. World Health Organization; 2020.
  • Emmett Cunningham. Stabilized hypochlorous acid. WO2019236752A1. International application published with international search report; 2019.




Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses cookies to offer you a better browsing experience. By browsing this website, you agree to our use of cookies.