เยี่ยมบ้านถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี ให้แก่ทุกๆคนภายในชุมชนไม่ว่าจะเป็นผู้คนปกติที่ไม่มีอาการเจ็บป่วย เยี่ยมบ้านผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ ให้ได้รับการดูแล รวมถึงเฝ้าติดตามอาการ เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้เยี่ยมบ้านยังมีการให้ความรู้ แนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ แล้วแจ้งข่าวสารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ทุกๆคนสามารถดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายใจ
เยี่ยมบ้านผ่านบัตรทอง เช็คการเปลี่ยนสิทธิบัตรทอง
สารบัญ
- เยี่ยมบ้านคืออะไร
- เยี่ยมบ้านมีขึ้นเพื่ออะไร
- เยี่ยมบ้านให้อะไรกับชุมชน
- แนวคิดเกี่ยวกับการเยี่ยมบ้าน
- แนวคิดเกี่ยวกับการช่วยพัฒนาการเยี่ยมบ้านแบบมีคุณภาพ
- ขั้นตอนปฏิบัติในการเยี่ยมบ้าน
- เยี่ยมบ้านมีกี่ประเภท
เยี่ยมบ้านคืออะไร
เยี่ยมบ้าน (Home visit) หมายถึง การเข้าไปดูแลและให้บริการทางด้านสุขภาพที่บ้านโดยตรง โดยผู้ที่ได้รับการบริการจะมีทั้งผู้ที่มีสภาพร่างกายปกติ รวมไปถึงการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยผู้ที่เข้าไปดูแลจะเป็นเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุข เพื่อช่วยสร้างเสริมสุขลักษณะที่ดีภายในชุมชนนั้นๆ รวมถึงควบคุมป้องกันโรค ให้คำแนะนำในด้านสุขภาพ ข่าวสารต่างๆ การดูแลตนเองในขั้นเบื้องต้น เพื่อให้คนในชุมชนสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
เยี่ยมบ้านมีขึ้นเพื่ออะไร
- เพื่อเข้าถึงความต้องการทางด้านสุขภาพของคนในชุมชน
- เพื่อให้คำแนะนำในด้านสุขภาพต่างๆ การดูแลตนเอง รวมไปถึงการป้องกันโรค
- เพื่อช่วยแนะนำวิธีการรับมือกับปัญหา ที่อาจมีผลกับสุขภาพกายและจิตใจ
- เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับบริการทางสุขภาพ ตามความเหมาะสมอย่างถูกต้อง
- เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่คนในชุมชน
- เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดี ภายในครอบครัวและชุมชน
- เพื่อติดตามดูผลลัพธ์จากการให้ความช่วยเหลือ ด้านการปฐมพยาบาล รวมไปถึงเพื่อวิเคราะห์ส่วนที่ต้องแก้ไขภายในชุมชน
เยี่ยมบ้านให้อะไรกับชุมชน
การเยี่ยมบ้านจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาสุขภาพของตนเอง และมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง และคนภายในครอบครัวมากยิ่งขึ้น โดยสามารถดูแลสุขภาพด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีสื่อข่าวหลอกลวงมากมาย ทำให้เกิดความเชื่อผิดๆได้
สามารถเช็คข่าวปลอมได้ที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย
นอกจากนี้เยี่ยมบ้านจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพ และสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่คนทุกช่วงวัยด้วยนั่นเอง
แนวคิดเกี่ยวกับการเยี่ยมบ้าน
- เยี่ยมบ้านไม่ใช่แค่เพียงการไปสำรวจบ้าน การสอบถาม สัมภาษณ์ แต่คือการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการเยี่ยมบ้านและผู้รับบริการเยี่ยมบ้าน
- เมื่อเยี่ยมบ้าน ผู้รับบริการจะไม่ได้จำกัดเพียงแต่การดูแลเยี่ยมบ้านผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ หรือหญิงหลังคลอดเท่านั้น
- เยี่ยมบ้านเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พยาบาล หรือทีมสุขภาพ มุ่งเน้นที่จะนำเอาศักยภาพของครอบครัว ชุมชน มาช่วยเหลือให้สามารถดูแลและพึ่งพาตนเองได้
- เยี่ยมบ้านจะเป็นการช่วยสนับสนุนให้เกิดการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ผสมผสาน และต่อเนื่อง
- เยี่ยมบ้านนั้นจะไม่ใช่เพียงบทบาทหน้าที่ของทีมสุขภาพเท่านั้น องค์กรชุมชน ก็มีบทบาทหน้าที่เช่นกัน
แนวคิดเกี่ยวกับการช่วยพัฒนาเยี่ยมบ้านแบบมีคุณภาพ
เกณฑ์คุณภาพงานเยี่ยมบ้านแบบมีคุณภาพ จะใช้แนวคิดเชิงระบบ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้าการดำเนินงาน (Input) กระบวนการบริการ (Process) และผลลัพธ์การพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน (Output and Outcome) โดยให้สอดคล้องกับกรอบแนวทางการพยาบาลผู้ป่วยที่บ้าน
ขั้นตอนปฏิบัติในการเยี่ยมบ้าน
1. เตรียมพร้อมก่อนการเยี่ยมบ้าน
โดยเริ่มจากเตรียมความพร้อมของตัวผู้ที่จะไปเยี่ยม (เจ้าหน้าที่) ว่ามีความรู้ และทักษะ การแต่งกายความสะอาดมารยาทในการวางตัว โดยก่อนการไปเยี่ยมบ้านควรมีเตรียมข้อมูลต่างๆ ของครอบครัวที่รับการเยี่ยมบ้าน ทั้งของบุคคล ครอบครัว ชุมชน และทำการประชุมทีมสุขภาพ เพื่อทำการวางแผนการเยี่ยมบ้าน เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือ, วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะ ทีมงาน ตลอดจนประสานกับเครือข่ายภายในชุมชน
2. ปฏิบัติการเยี่ยมบ้าน
เจ้าหน้าที่ที่ทำการเยี่ยมบ้าน ควรมีแสดงถึงมนุษสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ที่รับบริการ โดยอาจเริ่มต้นจากการแนะนำตนเอง ชื่อ-สกุล และสถานที่ทำงาน และทำการชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการไปเยี่ยมบ้านแก่ผู้รับบริการ จากนั้นก็ประเมินสภาวะสุขภาพ ครอบครัว และสิ่งแวดล้อม ศักยภาพของครอบครัว (สังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม รวมถึงการพึ่งพาตนเองในครอบครัว)
และทำการสรุปสภาวะสุขภาพของครอบครัวที่มีปัญหา พร้อมให้การช่วยเหลือและคำแนะนำการดูแลรักษาเบื้องต้นตามสภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคลในบางกรณีอาจต้องมีการประสานงาน และขอรับการสนับสนุนช่วยเหลือ ส่วนผู้ที่ไม่ต้องรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานจะมีการนัดหมายการเยี่ยมบ้านเฉพาะรายบุคคล
3.ขั้นตอนหลังการเยี่ยม
หลังจากเสร็จสิ้นการเยี่ยมบ้าน จะมีการทำสรุปและบันทึกผลการเยี่ยมบ้าน และนำเสนอข้อมูลบนแผนที่บ้าน (โดยใช้แบบฟอร์มแฟ้มข้อมูลครอบครัว) แบบบันทึกการเยี่ยมบ้าน ทีมสุขภาพจะมีการประชุมกันเพื่อประเมินผลของการเยี่ยมบ้าน ว่าการเยี่ยมบ้านครั้งนี้เป็นประโยชน์อะไรแก่บ้างแก่ครอบครัว และชุมชน หรือไม่
รวมถึงสังเกตุปัญหาต่างๆและสาเหตุของปัญหา ว่าครอบครัวนี้สมควรที่จะต้องมีการเยี่ยมบ้านอีกหรือไม่ แล้วทำไมต้องเยี่ยม และจะไปเยี่ยมอีกครั้งเมื่อไหร่ จำเป็นที่จะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคคลที่คนในชุมชนนับถือ ไปเข้าร่วมด้วยหรือไม่ หากผู้รับการเยี่ยมมีประสงค์จะรับความช่วยเหลือ จะมีการยื่นเรื่องส่งไปที่สหวิชาชีพอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากผู้รับบริการไม่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะทำการวางแผนการเยี่ยมเฉพาะรายบุคคล และสิ้นสุดการบริการ
เยี่ยมบ้านมีกี่ประเภท
เยี่ยมบ้านจะสามารถแบ่งได้ทั้งหมดเป็น 9 ประเภท ได้แก่
1.เยี่ยมบ้านแบบทั่วไป
โดยจะเยี่ยมบ้านเพื่อช่วยแนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพตนเองโดยทั่วไป เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจที่ดี พร้อมกับแนะนำอื่นๆที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่น การใช้สถานบริการทางสุขภาพภายในท้องถิ่น การใช้สิทธิประโยชน์ของตนเอง อย่างการใช้บัตรทอง ประกันสังคม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้รับบริการเอง
2.เยี่ยมบ้านสตรีมีครรภ์
ในกรณีเยี่ยมบ้านหญิงมีครรภ์ ส่วนมากจะเป็นการไปเยี่ยมและพบหญิงมีครรภ์ในขณะที่ยังไม่ได้มีการฝากครรภ์ ซึ่งอาจมีการให้คำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับการฝากครรภ์ หรือการไปตรวจครรภ์ตามนัดหมายของแพทย์ การปฏิบัติตัวขณะตั้งครรภ์ กำหนดการคลอด สถานที่คลอด เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆที่จำเป็นสำหรับทารก รวมถึงพร้อมรับฟังปัญหาต่างๆที่หญิงตั้งครรภ์รู้สึกกังวลใจ เป็นต้น
3.เยี่ยมบ้านมารดาและเด็กทารก
จะเป็นการไปเยี่ยมบ้านเพื่อทำการแนะนำวิธีการดูแลทารกอย่างถูกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงทารกด้วยน้ำนมแม่ การอุ้มทารกอย่างถูกวิธี การอาบน้ำให้ทารก หรือคำแนะนำทางสุขภาพเพื่อป้องกันการติดโรคอย่างวัคซีนที่ทารกควรได้รับ อาหารเสริมต่างๆ และพัฒนาการตามช่วงวัย วิธีการดูแลทารกและระวังเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนการให้ความรักต่อทารก และการดูแลเมื่อเจ็บป่วย เป็นต้น
4.เยี่ยมบ้านเด็กก่อนวัยเรียน ที่มีอายุ 1-6 ปี
โดยจะเข้าไปเยี่ยมบ้านเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรค การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นภายในบ้าน อาหารเสริมที่เด็กนั้นควรจะได้รับ การรักษาฟัน การเจริญเดิบโตของเด็กและพัฒนาการเด็ก และการปลูกฝังนิสัยที่ดี เพื่อเป็นแบบอย่างต่อไปในอนาคต
5.เยี่ยมบ้านเด็กในช่วงวัยเรียน ที่มีอายุ 7-18 ปี
โดยจะมีการเยี่ยมบ้านร่วมกันพร้อมกับคุณครูและผู้ปกครองของเด็ก เพื่อช่วยควบคุม ป้องกันโรคติดต่อแพร่กระจายระหว่างบ้านและโรงเรียน หรือการเยี่ยมบ้านเด็กในรายที่มีปัญหาจากโรงเรียน ทั้งทางด้านอารมณ์และร่างกาย เช่น เด็กที่ชอบขาดเรียนบ่อย เด็กที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยจะมีติดตามรวมถึงคอยให้ความช่วยเหลือเด็ก
6.เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ
โดยในการไปเยี่ยมบ้านเจ้าหน้าที่จะทำการแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความสะอาด การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สามารถย่อยได้ง่าย การพักผ่อน การออกกำลังกาย การป้องกันอุบัติหตุ การช่วยเหลือทางด้านจิตใจ เช่น หางานอดิเรกให้ทำ การเข้าสังคม เป็นต้น
7.เยี่ยมบ้านในครอบครัวที่มีปัญหา
ซึ่งความสัมพันธ์ สภาพแวดล้อม หรือค่านิยม ของในแต่ละครอบครัวก็ย่อมจะแตกต่างกันออกไป ในขณะเยี่ยมบ้านจึงควรจะพิจารณาจากปัญหาและความต้องการ เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ และให้การปรึกษาปัญหาบางอย่างที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะจัดการให้ได้ก็ควรจะเป็นผู้ประสารงาน หรือแนะแนวทางให้แก่ครอบครัวนั้นๆ หรืออาจเป็นสื่อกลางในการติดต่อ สังคมสงเคราะห์ มูลนิธิต่างๆ ให้ได้รับความช่วยเหลือต่อไป
ตัวอย่างหน่วยงานที่สามารถขอความช่วยเหลือได้
8.เยี่ยมบ้านผู้ป่วยตามบ้าน
เยี่ยมบ้านประเภทนี้จะเป็นการให้การพยาบาลตามแผนของทางแพทย์ โดยเบื้องต้นจะมีการสอนให้ญาติของผู้ป่วย รู้จักสังเกตอาการ การเปลี่ยนแปลง และรู้จักให้การพยาบาลเล็กๆ น้อยๆ รวมทั้งคอยเฝ้าระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วย
9.เยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคติดต่อ
ผู้เยี่ยมบ้านจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาและทราบข้อมูลและชนิดของเชื้อโรค วิธีการติคต่อของโรค วิธีการป้องกัน ระยะฟักตัวของโรค วิธีทำลายเชื้อโรค การให้ภูมิคุ้มกันโรค
ถ้าเกิดมีความสงสัยว่าอาจเป็นโรคติดต่ออันตรายควรทำการ แจ้งไปที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องภายใน 24 ชั่วโมง หรือรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลแล้วจัดการทำลายเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคต่อไป พร้อมกันให้ความรู้เกี่ยวกับสุขศึกษากับคนในบ้าน รวมทั้งเสริมภูมิคุ้มกันโรค
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่าเยี่ยมบ้าน ให้อะไรกับชุมชนมากกว่าที่คุณนอกจากจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขลักษณะที่ดีให้แก่ให้ประชาชนแล้วในพื้นที่แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้ประชาชนได้รับข้อมูล ข่าวสารความรู้ที่ถูกต้อง และสามารถใช้สิทธิที่มีอยู่ในมือตนเองให้เป็นประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็น การใช้สิทธิ์บัตรทอง เปลี่ยนสิทธิบัตรทอง หรือการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลชุมชน การใช้สิทธิ์ประกันสังคม เปลี่ยนสิทธิประกันสังคม เป็นต้น