สภาพแวดล้อมในการทำงาน ถือเป็นเหตุผลหลักที่มีผลต่อสภาพจิตใจผู้ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคแบบนี้ที่มีทั้ง ฝุ่น pm 2.5, มลพิษทางอากาศ รวมถึงโควิด-19 ที่ยังไม่หายไปจึงอาจทำให้หลายๆคนเป็นกังวล เพราะเรายังคงต้องไปทำงานกันทุกวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นสถานประกอบการก็ควรมีความพร้อม ในการช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อที่ผู้ที่ปฏิบัติงานจะได้เกิดความสบายใจ และมีความสุขต่องานที่ทำอยู่นั่นเอง
เปลี่ยนสิทธิประกันสังคม ง่ายๆด้วยตัวเอง
สารบัญ
- สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีคืออะไร
- สภาพแวดล้อมในการทำงานสำคัญอย่างไร
- สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
- ทำอย่างไรจึงจะมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
- ใครบ้างที่มีส่วนช่วยให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
- การรับรองสภาพแวดล้อมในการทำงาน
สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีคืออะไร
สภาพแวดล้อมในการทำงาน คือ สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา ขณะที่เรากำลังทำงานโดยสิ่งๆนั้นสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพ ในการทำงานของพนักงาน ซึ่งสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้แก่ สถานที่ในการปฏิบัติงาน อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน แสง เสียง อุณหภูมิ เพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชา เป็นต้น
เพราะฉะนั้น สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี คือ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ให้ผู้ปฏิบัติงาน สามารถที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสบายใจในการทำงาน ซึ่งสภาพแวดล้อมในการทำงานนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่สิ่งมีชีวิตโดยรอบเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิตด้วย เช่น สถานที่ บรรยากาศ และอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการทำงาน เป็นต้น
สภาพแวดล้อมในการทำงานสำคัญอย่างไร
ถ้าหาสังเกตดีๆจะพบว่า มนุษย์วัยทำงานนั้น มักใช้เวลา 1 ใน 3 ของวันไปกับสถานที่ทำงาน อย่างน้อยก็วันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ สภาพแวดล้อมในการทำงานดีย่อมส่งผลดีต่อผู้ปฏิบัติงาน แต่ในทางกลับกันหาก สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี นอกจากจะส่งผลเสียต่อผู้ปฏิบัติงานแล้ว ยังอาจไปรบกวนชุมชนรอบๆสถานที่ทำงาน ด้วยเช่นกัน
การมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีนั้น สำคัญกับทุกสถานประกอบการทุกขนาด ไม่ว่าจะเป็น ร้านค้า, โรงพยาบาล, โรงแรม, ธนาคาร, โรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ภายในสำนักงานทั่วไปก็ตาม ซึ่งหากทุกองค์ทำได้ ก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย และมีความสุข รวมไปถึงมีคุณภาพชีวิตทีดี
สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งนี้สถานประกอบการและพนักงานมีส่วนสำคัญในการช่วยกัน โดยปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญ ได้แก่
1. สถานที่ทำงาน
ไม่ว่าจะเป็น สภาพอากาศโดยรอบ มลพิษทางอากาศ กลิ่น เสียง หรืออุณหภูมิภายในที่ปฏิบัติงาน รวมถึงความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในการทํางาน ควรให้ความสำคัญกับ ความมั่นคงของตัวอาคาร เครื่องมือ เครื่องจักร สภาพแวดล้อมรอบสถานที่ทำงาน เพราะพนักงานบางคนอาจมี โรคประจำตัวหรือปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ หากมีสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ถูกสุขลักษณะ อาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพที่แย่ลง เช่น ผู้ที่ทำงานห้องปฏิบัติการควรมีเครื่องมือป้องกัน ที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยป้องกันอันตรายจากสารเคมี
2. สีสันในการทำงาน
สีสันในที่นี้ไม่ได้หมายถึง สีของสถานที่ทำงาน แต่คือการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานเชิงบวก เพื่อช่วยให้พนักงาน มีขวัญกำลังใจ และเกิดความรู้สึกที่ดีในการปฏิบัติงาน อาจมีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้พนักงานได้มีส่วนร่วม เช่น การส่งเสริมให้พนักงงานการออกกำลังกาย, การรับประทานอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัย, การส่งเสริมพนักงาน ทางด้านสุขภาพแก่พนักงาน เพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงาน รวมไปถึงการรักษาความสัมพันธ์อันดี ต่อพนักงานด้วยกันเอง
3. วัฒนธรรมองค์กร
คือ วิธีการที่บริษัทและพนักงานใช้ในการทำงาน รวมไปถึงการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพระหว่างพนักงานในระดับต่างๆ มุมมองของตัวพนักงานต่อผู้นำบริษัท เป้าหมายของบริษัท และสิ่งที่องค์กรให้ความสำคัญ ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพราะช่วยให้ทุกคนในบริษัทมีแนวทางในการดำเนินงาน และเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน ยกตัวอย่าง เช่น
วัฒธรรมองค์กรของบริษัทระดับโลกอย่าง บริษัท ไมโครซอฟ (Microsoft) ที่ได้รับการจัดอันดับว่า เป็นบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่สุดในโลกโดย Comparably โดยการโหวตของพนักงานบริษัทกว่า 70,000 แห่ง โดยไม่ระบุชื่อ ในปี 2565 โดยวัฒนธรรมองค์กรที่ ไมโครซอฟ ปลูกฝังให้พนักงาน คือการมี Growth Mindset หรือก็คือ การเติบโตทางความคิด โดยหาวิถีทางที่จะก้าวข้ามอุปสรรค์ โดยเรียนรู้จากความผิดพลาด และมีโครงการที่ให้พนักงานสามารถทดลองสิ่งใหม่ได้อย่างอิสระ เป็นต้น
4. มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า สถานที่ทำงานนี้จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ทั้งต่อสุขภาพของผู้ทํางาน และคนภายชุมชนโดยรอบสถานที่ทำงาน โดยมีการป้องกันรวมถึงมีมาตรการ ที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น มลพิษทางเสียง, ฝุ่นละออง, ความสั่นสะเทือน, สารเคมี, น้ำเสีย และขยะมูลฝอย รวมถึงการมีพื้นที่สีเขียว นอกจากช่วยให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการรับผิดชอบสังคมและส่วนรวมด้วย
5. ความสมดุลระหว่างงานกับการใช้ชีวิต
เพื่อช่วยรักษาดุลยภาพระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว ผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของทางองค์กรนั้นๆ และจากความต้องการของพนักงานภายในองค์กร ซึ่งหากพนักงาน สามารถจัดสรรเวลาการทำงานได้อย่างถูกต้องก็จะไม่รบกวนเวลาส่วนตัว และทำให้เกิดความสมดุลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน งานก็สำเร็จในเวลา เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดอีกหนึ่งปัญหาความตึงเครียดในการทำงาน เท่านี้ก็แฮปปี้ทั้งองค์กรและพนักงานแล้ว!
ทำอย่างไรจึงจะมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
ในการช่วยพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ง่ายที่สุดอาจเริ่มต้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเล็กๆน้อยๆ ของบุคคลภายในองค์กรที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพแบบไม่รู้ตัว และสอดแทรกกิจกรรมที่สามารถนำไปปรับเพื่อใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
1. กำหนดนโยบายทางด้านสุขภาพ
เพื่อความปลอดภัยของสถานที่ทำงาน โดยทำการติดป้ายเพื่อประกาศให้ทุกคนในองค์กรได้ทราบ เช่น มีการติดป้ายเตือนให้ล้างมือทุกครั้งก่อนการเข้าห้องปฏิบัติการ หรือ ป้ายเตือนเพื่อให้พนักงานรักษาความสะอาดหลังจากเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
2. กำหนดกฎระเบียบในการทำงาน
เพื่อให้เอื้อต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานในองค์กร เช่น การห้ามให้พนักงานสูบบุหรี่ หรือห้ามดื่มสุราในที่ทำงาน เป็นต้น
3. ให้ทุกคนมีส่วนร่วม
เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งทางกายภาพและทางสังคม ให้เกิดการเอื้อต่อการมีสุขภาพดีและมีความปลอดภัย รวมถึงการควบคุมมลพิษในด้านต่างๆ ซึ่งมาจากกระบวนการทำงานหรือกระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพนักงาน และชุมชนที่อยู่โดยรอบองค์กร เช่น การแยกขยะในที่ทำงานเพื่อสะดวกต่อการนำขยะไปกำจัด และรีไซเคิล รวมถึงเป็นการช่วยให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัยขณะทำการกำจัดขยะ
4. จัดกิจกรรม
หรือมีโครงการที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ ตามความต้องการขององค์กรนั้นๆ โดยเน้นให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วม เช่น โครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โครงการอาหารเพื่อสุขภาพ การส่งเสริมสุขภาพจิตคนทำงาน เป็นต้น
มาขยับตัวไล่ออฟฟิศซินโดรมกันเถอะ
ใครบ้างที่มีส่วนช่วยให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี
ทุกคนถือมีส่วนสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นเรื่องเล็กๆน้อยที่แค่ทุกคนลงมือทำ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ได้ นอกจากจะส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมรอบๆสถานที่ทำงานแล้ว ยังช่วยสร้างสุขภาพจิตใจที่ดีด้วย ยกตัวอย่างการมีส่วนรวมที่แต่ละบุคคลสามารถทำได้ เช่น
- ผู้ปฏิบัติงาน อาจเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่อาจเป็นผลเสียของตนเอง และร่วมแสดงความคิดเห็น ที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพและความปลอดภัย ในการทำงาน เช่น รักษาความสะอาดของตนเอง และโต๊ะทำงาน
- ผู้จัดการ/นายจ้าง ให้การสนับสนุนการสร้าง สภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เอื้ออำนวยต่อการสร้างสุขภาพดี ของคนในองค์กร และช่วยสนับสนุนการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล การให้งบประมาณ โดยคำนึงถึงสิทธิและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเป็นหลัก โดยมีการกำหนดเป็นนโยบายทางด้านสุขภาพ และกฎระเบียบในการทำงาน เพื่อสร้างความปลอดภัยและการมีสุขภาพดีในการทำงาน เช่น โรงอาหารที่มีความสะอาด
- ตัวแทนของกลุ่มคนทำงาน ทำหน้าที่ช่วยนำเสนอมาตรการ เพื่อช่วยในการส่งเสริมสุขภาพของคนทำงาน เพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองในนามของกลุ่ม โดยขยายขอบเขตหน้าที่ ให้ครอบคลุมเรื่องสวัสดิการพนักงาน รวมทั้งสื่อข้อมูลต่าง ๆ ไปถึงคนทำงาน
- เพื่อนร่วมงาน คอยช่วยดูแลและให้คำแนะนำซึ่งกันและกัน พร้อมกับการซัพพอร์ตเพื่อนร่วมงานทางด้านจิตใจ
การรับรองสภาพแวดล้อมในการทำงาน
หากสถานประกอบการ ต้องการให้สถานที่ทำงานได้รับความเชื่อมั่น สามารถให้หน่วยงานรัฐรับรอง สภาพแวดล้อมในการทำงาน ของสถานประกอบการได้ โดยการรับรองนี้ จะเป็นโครงการของทางกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข “โครงการสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน (Healthy Workplace Happy for Life)”
จุดประสงค์ของโครงการมีดังนี้
- เพื่อให้องค์กรมองเห็นถึงความสำคัญ ของสุขภาพของพนักงานในองค์กร โดยเริ่มจากการจัดการสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้มีความสะอาด ปลอดภัย และการให้พนักงานได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ที่พนักงานควรได้รับ
- เพื่อให้ผู้ประกอบการและพนักงานทุกคน ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้เป็นสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน
- เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเห็นถึงความสำคัญของชุมชน เพื่อไม่ให้สภาพแวดล้อมในการทำงานในองค์กรมีผลเสียต่อคนภายในชุมชน
ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากโครงการ
- ความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่มของพนักงานด้วยกันเอง และความสัมพันธ์อันดีระหว่างตัวพนักงาน กับ ผู้บริหาร
- เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ช่วยให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน การลดอัตราของการออกงาน ลดอัตราการของบาดเจ็บ หรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งจะเป็นการนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตของสถานที่ทำงาน
- มลพิษที่เกิดจากกระบวนการทำงาน มีจำนวนลดลง หรือ กระบวนการผลิตที่อาจมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพพนักงงาน, สิ่งแวดล้อม และชุมชน ทำให้ประชากรวัยทำงาน มีสุขภาพดี และประชาชนที่อยู่โดยรอบสถานที่ทำงาน ไม่ได้รับพิษภัยจากสถานที่ทำงานนั้นๆ
ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน
1. ทำความรู้จักและเรียนรู้ชุมชนด้านการประกอบการ
ทำความรู้จัก และแนะนำตนเองในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพกับเจ้าของหรือผู้บริหารของสถานประกอบการ เพื่อสร้างความคุ้นเคย
2. รวบรวมข้อมูลสถานประกอบการในชุมชน
รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของชุมชนด้านสถานประกอบการในทุกลักษณะ โดยการแยกประเภทข้อมูลเครือข่ายสถานประกอบการในชุมชน และขนาดของสถานประกอบการออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ประเภทมีผู้ปฏิบัติงานน้อยกว่า 10 คนขึ้นไป
- ประเภทมีผู้ปฏิบัติงานมากกว่า 10 คนขึ้นไป
3. วิเคราะห์สถานการณ์ในด้านต่างๆ ปัญหา ข้อขัดข้อง และแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งทางตรงและทางอ้อม
จากข้อมูลของสถานประกอบการ ศูนย์สุขภาพชุมชนจะต้องวิเคราะห์ และแยกประเภทของสถานประกอบการ โดยพิจารณาเป็น 2 ประเภทได้แก่
- สถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็นสถานที่ทำงานน่าอยู่ นำทำงานในรอบปีที่ผ่านมา
- สถานประกอบการที่ยังไม่เคยผ่านการประเมินมาก่อน เพื่อวางแผนการปฏิบัติงาน
4. ให้ข้อมูล คำแนะนำ ด้านวิชาการและการปฏิบัติให้กับสถานประกอบการเพื่อเป็นการชักจูงใจในการร่วมพัฒนา และสมัครเข้าร่วมโครงการ
- ให้ข้อมูลต่างๆ ได้แก่ รายละเอียดของการพัฒนาตามกระบวนการ สถานที่ทำงานน่อยู่ นำทำงาน ในแต่ละระดับและการร่วมรณรงค์ด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
- ผลดีของการพัฒนากระบวนการดังกล่าวทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและการเพิ่มผลผลิตของสถานประกอบการ
- วิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ และการประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและศูนย์อนามัยเพื่อการเข้าร่วมโครงการ
5. ให้คำปรึกษาและประสานงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสถานประกอบการเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนในการเป็นสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน
- ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาตามรายสถานประกอบควรที่ขอรับคำปรึกษา และในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และหรือศูนย์อนามัยเขตเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวพร้อมกับการประเมิน
- สนับสนุนสถานประกอบการ ให้มีความพร้อมรับการประเมินตามเกณฑ์
หลังจากสถานประกอบการได้รับการดำเนินงานจนครบแล้ว สำนักงานสาธาณสุขจังหวัดหรือศูนย์อนามัยเขต จะเป็นผู้มาประเมินความสำเร็จให้อีกครั้ง พร้อมสรุปผลการประเมิน
ขั้นตอนการขอรับรองสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน สำหรับสถานประกอบการ
แนะนำขั้นตอนการขอรับรอง สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่มีความสนใจ สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนดังนี้เลยนะคะ
ขั้นตอนที่ 1 หากสถานประกอบการมีความสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ เทศบาล อบจ. หรือ อบต. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในบริเวณที่สถานที่ทำงานของคุณตั้งอยู่ (ในแต่ละชุมชนจะสามารถขอคำแนะนำได้จาก ศูนย์สุขภาพชุมชน)
ขั้นตอนที่ 2 เทศบาล หรือ อบจ หรือ อบต. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะมีการจัดประชุม เพื่อชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการ เกณฑ์การประเมิน และการรับรอง พร้อมทั้งมอบคู่มือโครงการสถานที่ทำงานนำอยู่น่าทำงานให้แก่สถานประกอบการ
ขั้นตอนที่ 3 ผู้แทนสถานประกอบการ ทำการตรวจประเมินสถานที่ทำงาน ครั้งที่ 1 ตามเกณฑ์การประเมินโครงการสถานที่ทำงานน่อยู่ น่าทำงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับสถานประกอบการในการประเมินตนเอง และค้นหาจุดบกพร่อง หรือปัญหาในสถานประกอบการ
ขั้นตอนที่ 4 นำจุดบกพร่องหรือปัญหาที่พบ มาทำการวิเคราะห์ หาสาเหตุของปัญหา และแนวทางในการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการ
ขั้นตอนที่ 5 ลงมือปฏิบัติตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ โดยหากพิจารณาเห็นว่า ปัญหาที่พบเกินกว่าความสามารถของสถานประกอบการ ที่จะแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ก็สามารถขอการสนับสนุนจากเทศบาล หรือ อบจ. หรืออบต. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
ขั้นตอนที่ 6 ดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามแผน หรือวิธีที่กำหนดไว้ ต้องทบทวนและตรวจสอบแผนการแก้ไขปัญหานั้นด้วยว่า เหมาะสม และตอบรับกับปัญหาหรือไม่ หากพบข้อบกพร่องต้องแก้ไขข้อบกพร่องที่พบ และดำเนินการจนมั่นใจว่าสถานประกอบการของเราผ่านประเมินได้แล้ว
ขั้นตอนที่ 7 ติดต่อเทศบาล หรือ อบจ. หรือ อบต. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือศูนย์อนามัยเพื่อขอรับการรับรองจากคณะกรรมการตรวจประเมิน หากตรวจประเมินพบข้อบกพร่องที่ทำให้ไม่ผ่านการประเมิน ให้สถานประกอบการดำเนินการแก้ไขให้เสร็จ ตามที่ขณะกรรมการฯได้กำหนด และขอรับการตรวจประเมินอีกครั้ง
ขั้นตอนที่ 8 เมื่อผ่านการประเมิน กรมอนามัยจะออกใบรับรอง สถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน และมอบให้สถานีอนามัย เพื่อมอบให้แก่สถานประกอบการที่ผ่านการประเมิน
การรับรองแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
ขั้นตอนรับรองสภาพแวดล้อมในการทำงาน เริ่มจากการสำรวจ และทำการประเมินสถานประกอบการทำการสำรวจข้อมูล โดยใช้แบบประเมินสถานที่ทำงาน น่าอยู่ นำทำงาน ด้วยตนเอง เพื่อใช้ไปปรับปรุง หลังจากนั้นก็จะมีการตรวจติดตามผลการดำเนินงาน และทำการตรวจประเมินครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 โดยผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อทำการปรับปรุงอีกครั้ง
- ระดับพื้นฐาน เป็นระดับปกติ ที่ปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดของแบบประเมินสถานที่ทำงาน น่าอยู่ น่าทำงาน ได้แก่ ตัวอาคาร การระบายอากาศ การจัดการมูลฝอย การจัดการน้ำเสีย น้ำดื่มน้ำใช้ อ่างล้างมือ การจัดการสิ่งปฏิกูล การป้องกัน ควบคุมสัตว์ พาหะนำโรค และแมลง ระบบไฟฟ้า การจัดการความปลอดภัย สุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน และการส่งเสริมสุขภาพในระดับพื้นฐาน
- ระดับดี ปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดระดับพื้นฐาน และระดับดีตามแบบประเมิน
- ระดับดีมาก เมื่อปฏิบัติได้ตามข้อกำหนดระดับพื้นฐาน ระดับดี และระดับดีมาก ตามแบบประเมินการประกาศเกียรติคุณ โดยกรมอนามัยจะเป็นผู้ออกใบรับรองให้ แก่สถานที่ทำงานที่ผ่านการประเมิน รับรองเป็นสถานที่ทำงาน น่าอยู่ น่าทำงาน
เห็นแล้วใช่มั้ยคะว่า การให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่งผลดีอย่างไรกับทุกคน เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ก็ช่วยให้สถานที่ทำงานของคุณและสังคมดีขึ้นได้ และสำหรับใครที่สนใจเข้าโครงการสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาล อบจ. หรือ อบต. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในบริเวณที่สถานที่ทำงานของคุณตั้งอยู่ได้เลยนะคะ